“เอ็นพีแอล”ทะลัก..!! ยุคทอง..ธุรกิจติดตามหนี้รุ่ง นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 14 พ.ค.61

5 ปี 11 เดือน ที่ผ่านมา #102470 โดย Pheonix
13 พฤษภาคม 2561 | โดย ดาริน โชสูงเนิน
999
เศรษฐกิจชะลอดัน“หนี้เสีย"พุ่ง ตัวช่วยสำคัญลด NPL แบงก์ หนีไม่พ้น“ธุรกิจติดตาม-รับซื้อหนี้" ดาวรุ่งพุ่งแรง..!!ไม่เชื่อถาม“สุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์” ซีอีโอป้ายแดง JMT โหนกระแส ตั้งเป้าขยายพอร์ตหนี้ เป็น 2 แสนล้านใน 5 ปี



“หากไม่มีธุรกิจติดตามหนี้ ซื้อหนี้เข้ามาบริหารแบงก์อาจเจ๊งได้…!!!”

ประโยคเด็ด ของ “สุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส หรือ JMT ผู้ประกอบธุรกิจติดตามหนี้ และบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ รายใหญ่ของไทย

ที่สะท้อนสถานการณ์ “หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL” ของไทยที่พุ่งขึ้น ไม่เพียงกดดันกำลังซื้อของผู้คน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย จากความสามารถในการก่อหนี้ที่ลดลงแล้ว ยังกดดันฐานะของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะในปี 2560 ที่พบว่า

ธนาคารพาณิชย์ไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังคงมีอัตรากำไรปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยความสามารถในการทำกำไรที่ด้อยลง เป็นผลมาจากการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มขึ้น จาก NPL ที่พุ่งขึ้น

ทว่า “เครื่องมือหนึ่ง” ที่ธนาคารพาณิชย์ใช้มักใช้เพื่อกด NPL ให้ปรับตัวลดลงตามเป้าหมาย คือการใช้บริการจาก “ธุรกิจติดตามหนี้ -รับซื้อหนี้” กลายเป็นการสร้าง“ความรุ่งเรืองเฟื่องฟู”ให้กับธุรกิจนี้ สวนทางกับเงินในกระเป๋าผู้คน

สะท้อนผ่าน 2 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งบมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส หรือ JMT ผู้ประกอบการบริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพประเภทไม่มีหลักประกัน และ บมจ.ชโย กรุ๊ป หรือ CHAYO ประกอบธุรกิจลงทุนและบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ธุรกิจให้บริการเจรจาติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้ และธุรกิจศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าที่กำลังเนื้อหอม เพราะมีสถาบันการเงินติดต่อเข้ามาให้เข้ามาประมูลซื้อหนี้ด้อยคุณภาพไปบริหาร ถือเป็นโอกาสทองของ JMT และ CHAYOในการซื้อหนี้บริหาร

ตัวเลขกำไรสุทธิย้อนหลัง 3 ปี (2558-2560) ของ JMT และ CHAYO พบว่า ในส่วนของ JMT มี “กำไรสุทธิ”อยู่ที่ 94.64 , 290.41 , 396.13 ล้านบาท ขณะที่ CHAYOมีกำไรสุทธิ 68.94 ,70.89 , 58.24 ล้านบาท ตามลำดับ

เป็นอัตราการเติบโตที่ก้าวกระโดดทุกปี !!

“สุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส หรือ JMT เผยว่าปัจจุบันภาพรวมประเทศไทยมีการปล่อยสินเชื่อ“ราว12-13ล้านล้านบาท” ในจำนวนนี้เป็นหนี้เสียหรือ NPL ราว 3% ของพอร์ตการปล่อยสินเชื่อ คิดเป็นวงเงินประมาณ 4 แสนล้านบาท โดยเป็นหนี้ไม่มีหลักประกันสัดส่วน 20-30%

ฉะนั้น ธุรกิจติดตามหนี้ ธุรกิจรับซื้อหนี้มาบริหาร จึงเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ถือเป็น“ตัวช่วย”มารับซื้อหนี้เสีย จากกลุ่มสถาบันการเงินที่ระดมขายหนี้เสียออกมาเพื่อหวังลด NPL...!!

สอดคล้องกับข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระบุว่าปี 2560 ระบบสถาบันการเงินมียอดคงค้าง Gross NPL อยู่ที่ 429 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.4 พันล้านบาทจากปี 2559 ทำให้สถาบันการเงินต่างๆ ยังคงขายหนี้ด้อยคุณภาพออกมาเพื่อรักษาระดับ NPL

จากโอกาสธุรกิจดังกล่าว “สุทธิรักษ์” ระบุถึงแผนธุรกิจปีนี้กับ กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ว่า จะตั้งงบลงทุนซื้อหนี้ทุกประเภทเข้ามาบริหารทั้ง“หนี้ที่ไม่มีหลักประกันและหนี้ที่มีหลักประกัน”อยู่ที่ 4,500 ล้านบาท มากขึ้นเดิมกว่า “3 เท่าตัว” แบ่งเป็นซื้อหนี้ที่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท และหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท

ถือเป็นวงเงินสูงสุด จากปกติเฉลี่ยเงินลงทุนต่อปีอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท !!

เขายังระบุกลยุทธ์การซื้อหนี้มาบริหารว่า จะยึดหลัก“ความยืดหยุ่น” โดยประเมินจากทั้งความน่าสนใจ และผลตอบแทนการลงทุน

นอกจากนี้ ในปีนี้กำลังจะโฟกัสเข้ามาในธุรกิจ “การบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพประเภทหนี้ที่มีหลักประกัน” หลังจากบริษัทเริ่มซื้อหนี้มีหลักประกันเข้ามาบริหารเมื่อปีที่ผ่านมา แต่สัดส่วนยังมีน้อยเมื่อเทียบกับพอร์ตหนี้ไม่มีหลักประกันเกือบ 100%

โดยตั้งเป้า 5 ปีจากนี้ (2561-2565) จะเพิ่มสัดส่วนรายได้หนี้ที่มีหลักประกัน 10% และหนี้ไม่มีหลักประกัน 90% มีพอร์ตซื้อหนี้รวมแตะ “2แสนล้านบาท”

“ปัจจุบัน JMT แข็งแกร่งเพียงพอแล้ว ที่จะเข้ามาซื้อหนี้ที่มีหลักประกันเพราะต้องใช้เงินลงทุนสูง ดังนั้นหากเราลงทุนในช่วงที่พอร์ตไม่แข็งแรงพอ ก็อาจจะเกิดปัญหาสภาพคล่องยังไงก็ตามปีนี้หนี้ที่มีหลักสัดส่วนรายได้ต้องมากขึ้น ตามสภาพของดีมานด์ซับพลายของตลาด” เจ้าตัวย้ำ ก่อนขยายความว่า

JMT มีเป้าหมายจะขยายการลงทุนพอร์ตหนี้ทั้ง 2 อย่าง เพียงแต่พอร์ตหนี้ที่มีหลักประกันจะเติบโตโดดเด่น เพราะว่าเป็นพอร์ตหนี้ใหม่ ฐานยังต่ำจากพอร์ตหนี้รวมปัจจุบันอยู่ที่1.2 แสนล้านบาท

เขายังเล่าถึงธุรกิจในเมืองไทยต่อไปว่า ในช่วงปีนี้จนถึงปีหน้า ถือเป็นจังหวะและโอกาสในการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพทั้งมีหลักประกันและไม่มีหลักประกันเติมเข้าพอร์ต

ล่าสุด ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมติให้ออกบอนวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ฉะนั้น ถือว่าตอนนี้มีน้ำมันเต็มถังในการลงทุนปีนี้ โดยไตรมาสแรก เราซื้อหนี้เติมเข้ามากว่า 1,000 ล้านบาทแล้ว

ล่าสุดต้นปีที่ผ่านมา บริษัทยังรุกสู่ “ธุรกิจใหม่”(New Business) ด้วยการเข้าลงทุนในบริษัทฟีนิกซ์ประกันภัย (ประเทศไทย) หรือ Phoenix ผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้รับประกันวินาศศภัยในประเทศไทย โดยการซื้อหุ้นสามัญในสัดส่วน 55% ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วทั้งหมด คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 400 ล้าน แหล่งเงินทุนมาจากเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทฯ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ และโอกาสในการสร้างรายได้และกำไรจากธุรกิจประกันภัยด้วยเทคโนโลยี Insure Tech

โดยในต้นเดือน พ.ค.นี้ จะรีแบรนด์ดิ้ง เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เจพีประกันภัย จำกัด (หมาชน) ซึ่งเราเล็งเห็นถึงศักยภาพของธุรกิจประกันภัยมา“ผนึกกำลัง” (Synergy)กับกลุ่มของ เจมาร์ทเพราะว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจรีเทลที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ตาม บริษัทก็อยู่ระหว่างการศึกษาลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ที่จะเข้ามา Synergy กับกลุ่มเจ มาร์ท ซึ่งตอนนี้ก็มีคุยอยู่บ้างแต่ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ ขนาดดีลของธุรกิจประกันภัยใช้เวลา 16 เดือน ซึ่งตอนนี้ก็กำลังคุยๆ กันอยู่และไม่สามารถตอบได้ว่าจะปิดดีลได้ทันในปีนี้

“เรายังมองหาการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ข้างเคียงเข้ามาสร้างการเติบโตในระยะยาว และเราไม่หยุดตัวเองในการเพิ่มและขยายธุรกิจใหม่ๆ จากเดิมที่เป็นเพียงในส่วนของธุรกิจที่เป็นโบรกเกอร์เท่านั้น แต่ปัจจุบันเมื่อเรามีบริษัทประกันเป็นของตัวเองเราสามารถดีไซน์ผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์และทำผลิตภัณฑ์ต่างๆให้ในกลุ่มเจมาร์ทได้”

ไม่เพียงการรุกตลาดในประเทศ เป้าหมายของ JMT ยังต้องการครองความเป็นผู้นำในธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพใน “กลุ่ม CLMV”(กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เขาเชื่อมั่น!

โดยเมื่อปี 2560 JMT เข้าไปชิมลางลงทุนในกัมพูชา โดยเปิดบริษัทย่อย ภายใต้ชื่อ “บริษัท เจเอ็มที กัมพูชา จำกัด” และเริ่มดำเนินงานติดตามหนี้ในไตรมาส 3 ของปีเดียวกัน

ถือเป็นก้าวแรกของการรุกตลาดในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเต็มกำลัง...!

โดยลูกค้าจะเป็นสถาบันทางการเงินของกัมพูชา และ“สถาบันไมโครไฟแนนซ์” (Micro-Finance) ถึงกว่า70 แห่ง ซึ่งปัจจุบันบริษัทเจรจาไว้หลายแห่งแล้ว รวมถึงการไปพบกับเหล่าผู้ประกอบการไมโครไฟแนนซ์รายใหญ่ของกัมพูชา โดยเฉพาะ 20 รายต้นๆ ซึ่งน่าจะมีรายได้เข้ามาในอนาคตอันใกล้

“กัมพูชาถือเป็นโอกาสในการเข้าไปตั้งรกรากในต่างประเทศเป็นแห่งแรก แม้ว่าตอนนี้ตลาดจะไม่กว้างเหมือนเมืองไทย แต่หากวันหนึ่งตลาดมีความพร้อม เราเข้าไปตอนนั้นคงจะไม่ทันแล้ว”

โดยเขาคาดว่าปี 2562 ธุรกิจที่เข้าไปดำเนินการในกัมพูชาจะเริ่มมี “กำไร” หากลูกค้ามาใช้บริการตามที่บริษัทวางเป้าหมายไว้ ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้า 2-3 ราย เริ่มมาใช้บริการแล้ว แม้ว่าในปีนี้ธุรกิจยัง“ขาดทุน” ก็ตาม

“ธุรกิจในกัมพูชาเหมือนกับJMT ประเทศไทย เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ที่เริ่มทำธุรกิจใหม่ๆ ถือเป็นช่วงแรกที่เราเริ่มทำตลาด และเรียนรู้พฤติกรรมลูกค้ามากกว่า”

โดยในกัมพูชาไม่มีธุรกิจติดตามหนี้แบบที่ JMT ทำ ถือว่า JMT เป็นเจ้าแรกที่เข้าไปทำธุรกิจติดตามหนี้แบบเป็นเรื่องเป็นราวในนั้น ซึ่งเราไปรอบนี้คือแบงก์ชาติที่กัมพูชารู้จัก JMT ประมาณว่า เปรียบเหมือนยักษ์เบอร์ 1 ของเมืองไทยไปปักธงที่กัมพูชา ถือเป็นโอกาส “ซึ่งสถาบันการเงินของกัมพูชาบอกว่าให้เรารีบเปิดดำเนินการเร็วๆ” ซึ่งเรามีโอกาสไปเจอ ซีอีโอของแบงก์ใหญ่เบอร์ 1 ของกัมพูชาและได้คุยกันมาแล้ว “สุทธิรักษ์” เล่า

ถัดจากกัมพูชา สถานีลงทุนต่อไป คือ “เวียดนาม”

“ในปีนี้ศึกษาเข้าไปลงทุนในประเทศเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะเปิดดำเนินธุรกิจในปี 2562 โดย JMT จะนำธุรกิจติดตามหนี้เข้าไปดำเนินการก่อน ซึ่งตลาดที่เวียดนามใหญ่กว่ากัมพูชามาก แต่ตอนนี้อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการลงทุน คาดว่าจะเห็นความชัดเจนไตรมาส 3นี้ ซึ่งในปัจจุบันทีมงานของ JMT เข้าไปศึกษาตลาดไว้แล้ว และจากนั้นก็ดูในเรื่องของการจัดตั้งบริษัท”

ส่วนลาว-เมียนมา จากการศึกษาเบื้องต้นลาวที่น่าสนใจลงทุน เนื่องจากตลาดสินเชื่อที่ลาวเติบโตตลอด ขณะที่ตลาดเมียนมาอาจจะยังไม่บูมมากเมื่อเทียบกับลาว ฉะนั้นอาจยังไม่ใช่จังหวะที่ดีนักที่จะเข้าไปลงทุนในขณะนี้

“เราเข้าไปดูตลาดเมียนมาหลายรอบแล้ว เห็นทั้งอุปสรรคและโอกาส เมื่อเทียบกับกัมพูชาเราเห็นโอกาสมากกว่า จึงตัดสินใจไปปักธงตรงนี้ก่อนดีกว่า แม้ว่าตลาดยังไม่ใหญ่เหมือนเมืองไทย แต่ว่ากัมพูชาเป็นประเทศแรกที่เรามองว่าน่าจะปักหลักในต่างแดนเป็นที่แรก”

ซีอีโอ JMT ยังตั้งเป้าสัดส่วนรายได้ต่างประเทศ 3-5 ปีจากนี้ (2561-2565) ว่าจะโตไม่ต่ำกว่า 3-5% จากปัจจุบันยังเป็นศูนย์ ซึ่งคาดว่าจะทยอยมีสัดส่วนรายได้เพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ ภายใต้การเข้าไปลงทุนแต่ละประเทศที่กล่าวมา

ขณะที่โจทย์ที่ตั้งไว้ในการดูแลธุรกิจทั้งในและตา่งประเทศคือ ต้องขยายธุรกิจให้เติบโตต่อเนื่อง ตั้งเป้าไว้ว่าต้องเติบโตเฉลี่ยปีละ 30% โดยต้องมีกลยุทธ์ที่ดีหากในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี เป็นโอกาสให้บริษัทซื้อหนี้ตุนเข้าพอร์ต แต่ช่วงเศรษฐกิจดีก็เป็นโอกาสที่ลูกค้าของบริษัทมีกำลังจ่ายหนี้มากขึ้น เพราะฉะนั้นบริษัทต้องบาร์ลานซ์พอร์ตตัวเองในแต่ละช่วงให้ดี สิ่งสำคัญต้องผันตัวเองให้อยู่ได้แต่ละช่วงเศรษฐกิจ

ด้าน “สุขสันต์ ยศะสินธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชโย กรุ๊ป หรือ CHAYO ผู้ประกอบธุรกิจลงทุนและบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ธุรกิจให้บริการเจรจาติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้ และธุรกิจศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า เล่าแผนธุรกิจระยะ 3 ปี (2561-2563) ว่า บริษัทจะเพิ่มสัดส่วนรายได้พอร์ตหนี้ที่มีหลักประกันเป็น 70% ขณะที่พอร์ตหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน 30% จากปี 2559 พอร์ตหนี้ที่มีหลักประกัน 5% และไม่มีหลักประกัน 95%

“เรามาเน้นซื้อหนี้มีหลักประกันเพราะว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน หากลูกหนี้ไม่ชำระคืนหนี้ เรายังมีสินทรัพย์ที่ค้ำประกันอยู่ และสินทรัพย์ดังกล่าวอาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้นหากทำเลย่านนั้นมีการเปลี่ยนแปลงส่งผลให้สินทรัพย์ดังกล่าวมีมูลค่าเพิ่มขึ้นด้วย เช่น มีโครงการรถไฟฟ้าผ่าน ,มีถนนตัดผ่าน เป็นต้น”

ทั้งนี้ ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า (2561-2562) จะเน้นขยายพอร์ตโดยการซื้อหนี้เข้ามาให้เป็นตามเป้าตามสัดส่วนพอร์ต 70% หนี้มีหลักประกัน และ 30% หนี้ไม่มีหลักประกัน ถือว่าในช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ต้องเน้นซื้อหนี้มาบริหารเป็นหลัก แต่หลังจากรัฐบาลชุดปัจจุบันประกาศเลือกตั้งในปี 2562 แล้วนั้น สัญญาณดังกล่าวบ่งชี้ว่าสถานการณ์การลงทุนจะมากขึ้น

ฉะนั้น เมื่อมีการลงทุนเศรษฐกิจฟื้นตัว ส่งผลให้เม็ดเงินกระจายลงสู่ระดับรากหญ้า ซึ่งเมื่อนั้นคนที่เป็นหนี้ก็จะมีเงินจ่ายชำระคืน สะท้อนกลับมาที่บริษัทว่าบริษัทมีฐานลูกค้ากว่า “แสนราย”ดังนั้นเมื่อลูกค้ามีความมั่นคงด้านการเงิน เขาก็จะนำเงินมาชำระคืนหนี้ ดังนั้น ในปี 2562-2563 จะเป็นปีของการเก็บเกี่ยวสิ่งที่ลงทุนไปแล้ว


ซีอีโอป้ายแดง JMT ลูกหม้อคนสนิทเฮียปิยะ..!

หลังจาก บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส หรือ JMT ผู้ประกอบธุรกิจติดตามหนี้ และบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ รายใหญ่สุดของไทย ประกาศแม่ทัพใหญ่ “ปิยะ พงษ์อัชฌา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาออกจากตําแหน่งโดยมีผลตั้งแต่ 1ม.ค.เป็นต้นมา พร้อมส่งไม้ต่อให้ลูกหม้อคนสนิท“สุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์”ผู้อำนวยการบริหารสายงานการตลาด รับหน้าที่ซีอีโอคนใหม่ของ JMT แทน

สุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ไม่ใช่คนไกลที่ไหน ? นั่งทำงานที่ JMTมาร่วม 12 ปีแล้ว และเป็นมือขวาคนสนิทของ “เฮียปิยะ” ทำงานเคียงบ่า เคียงไหล่ รุกธุรกิจบริหารหนี้ของ JMT มาด้วยกัน“ซื้อหนี้ทุกกองผ่านมือผมทั้งหมด”ซีอีโอคนใหม่ย้ำ

จนกระทั้งสามารถนำ JMT เข้าระดมทุนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2555 จากพอร์ตหนี้มูลค่าไม่เกิน 30,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันพอร์ตหนี้รวมมูลค่า1.2 แสนล้านบาท

เติบโตกว่า“4 เท่าตัว”

“หนุ่มโอ๋” จบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด ปัจจุบันอายุ 42 ปี เริ่มทำงานที่ JMT ในตำแหน่งผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาดและการขายในปี 2549 และในปี 2556-2559 ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยอำนวยการฝ่ายการตลาดและการขาย ส่วนในปี 2560 เป็นผู้อำนวยการบริหารสายงานการตลาด ล่าสุด ขึ้นตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

โดยในช่วงปี 2549 ที่ผมได้มีโอกาสเข้ามาทำงานที่ JMT เริ่มจากมาดูแลงานด้านการบริหารหนี้ และการตลาดอื่นๆ ในช่วงนั้น “คุณปิยะ” มองเห็นว่าบริษัทต้องมีความมั่นคงให้กับบริษัทและพนักงาน เพราะด้วยศักยภาพของ JMT มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจเร่งรัดหนี้ จึงมีแนวคิดที่จะซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารเอง

ตอนนั้นผมได้มีโอกาสเข้ามาดูแลในโปรเจคสำคัญนี้ และเริ่มต้นเจรจาซื้อหนี้ก้อนแรกจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งประสบความสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี นับจนถึงวันนี้ ก็ซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารกว่า 100 กองแล้ว ซึ่งก็ผ่านมือผมมาทุกกอง

หนุ่มโอ๋ ทิ้งท้ายว่า ผมทำงานอยู่กับคุณปิยะมานาน เรียกได้ว่า เป็นทั้งพี่เลี้ยง พี่ชาย และเป็นที่ปรึกษาได้ทุกเรื่อง เหมือนกองทัพที่มีผู้นำเก่ง ที่เราชื่นชม และผมก็เคียงบ่า เคียงไหล่ เรียนรู้ทุกส่วนงาน นั้บตั้งแต่ก้าวแรกที่เราจะเข้ามารุกธุรกิจซื้อหนี้มาบริหาร ก็ให้การสนับสนุนกันมาโดยตลอด

แม้ตอนนี้เข้ามารับตำแหน่งใหม่ก็รู้สึกทุกอย่างยังเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนไป เพราะคุณปิยะก็ยังคงนั่งเก้าอี้กรรมการ JMT และยังคงดูแลภาพรวมธุรกิจบริหารหนี้ในกลุ่ม JMART จึงมองว่า นี่จะเป็นการฟอร์มทีมเพื่อความคล่องตัวในการเติบโตอย่างยั่งยืนในกลุ่มธุรกิจของเรา

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

ผู้ดูแล: MommyangelBadmankonsiam
เวลาที่ใช้ในการสร้างหน้าเว็บ: 0.597 วินาที
ขับเคลื่อนโดย ระบบฟอรัม Kunena