ประกาศธปท. ที่ สนส. 31/2551 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองของสถาบันการเงิน

11 ปี 10 เดือน ที่ผ่านมา #12221 โดย Pych
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่ สนส. ๓๑/๒๕๕๑

เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองของสถาบันการเงิน


๑. เหตุผลในการออกประกาศ
แต่เดิมมาธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดหลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรอง เพื่อให้สถาบันการเงินมีการกันเงินสำรองอย่างเพียงพอ และสามารถรองรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ที่สถาบันการเงินได้ถือครองอยู่ได้ โดยเฉพาะเงินให้สินเชื่อซึ่งถือได้ว่าเป็นสินทรัพย์หลักของสถาบันการเงิน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้นำแนวทางการกันเงินสำรองตามมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (International Accounting Standard - IAS) ฉบับที่ ๓๙ เรื่อง การรับรู้และการวัดมูลค่าตราสารทางการเงิน มาใช้ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๙ เป็นต้นมา ซึ่งปัจจุบันสถาบันการเงินทุกแห่งได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวแล้ว
ในการออกประกาศฉบับนี้ เพื่ออ้างอิงอำนาจตามกฎหมายให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๕๑ และเป็นการรวบรวมประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่เกี่ยวกับการจัดชั้น และการกันเงินสำรองมาประมวลให้อยู่ในฉบับเดียวกัน โดยสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ส่วนใหญ่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากหลักเกณฑ์เดิม คือ ให้สถาบันการเงินกันเงินสำรองสำหรับผลต่างของยอดหนี้คงค้างกับมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับจากลูกหนี้ หรือผลต่างของยอดหนี้คงค้างกับมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับจากการจำหน่ายหลักประกัน อย่างไรก็ดีเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและความสามารถในการรองรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ โดยที่ไม่เป็นการเพิ่มภาระการดำเนินงานของสถาบันการเงินมากจนเกินไป ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในบางประเด็น เช่น ในการจัดชั้นรายบัญชีนั้น หากมีข้อบ่งชี้ว่ากระแสเงินสดรับของลูกหนี้ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับลูกหนี้ในแต่ละบัญชีมีความเกี่ยวข้องกัน ซึ่งอาจส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้นั้นลดลงสถาบันการเงินก็ควรพิจารณาจัดชั้นลูกหนี้รายนั้นไว้ด้วยกันปรับปรุงประเภทของหลักประกันที่สามารถนำมาหักจากมูลหนี้ก่อนการกันเงินสำรองได้ และกำหนดให้สถาบันการเงินมีนโยบายในการจัดชั้น การกันเงินสำรองและการตัดจำหน่ายหนี้สูญเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่สถาบันการเงินใช้เป็นการทั่วไปอยู่แล้วในปัจจุบันให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เป็นต้น

๒. อำนาจตามกฎหมาย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖๐ และมาตรา ๖๑ แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๕๑ ธนาคารแห่งประเทศไทยออกข้อกำหนดให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดชั้นและการกันเงินสำรองของสถาบันการเงิน

๓. ขอบเขตการบังคับใช้
ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับกับสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินทุกแห่ง

๔. ประกาศและหนังสือเวียนที่ยกเลิก
ประกาศและหนังสือเวียนที่ยกเลิก ตามเอกสารแนบ 1 (ยกเลิกไปแล้ว จึงขอไม่แนบนะครับ)

๕. เนื้อหา
๕.๑ ในประกาศฉบับนี้

“สินทรัพย์ที่เสียหาย” หมายความว่า สินทรัพย์จัดชั้นสูญ
“สินทรัพย์ที่อาจเสียหาย” หมายความว่า
(ก) สินทรัพย์จัดชั้นสงสัยจะสูญ
(ข) สินทรัพย์จัดชั้นสงสัย
(ค) สินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน
(ง) สินทรัพย์จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษหรือสินทรัพย์จัดชั้นควรระวังเป็นพิเศษ
(จ) สินทรัพย์จัดชั้นปกติ

“เงินสำรอง” หมายความว่า เงินสำรองที่กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญค่าเผื่อการลดราคา ค่าเผื่อการด้อยค่า ค่าเผื่อการปรับมูลค่า สำหรับสินทรัพย์ที่อาจเสียหาย รวมถึงสินทรัพย์และภาระผูกพันอื่นที่ไม่เสียหาย ทั้งนี้ สถาบันการเงินจะต้องกันเงินสำรองสำหรับสินทรัพย์จัดชั้นแต่ละประเภทตามอัตรา และหลักเกณฑ์ที่ระบุในประกาศฉบับนี้

๕.๒ ธนาคารแห่งประเทศไทยออกหลักเกณฑ์ให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดชั้นสินทรัพย์และการกันเงินสำรองดังนี้

๕.๒.๑ การกำหนดนโยบายและวิธีปฏิบัติ
สถาบันการเงินต้องกำหนดนโยบายและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดชั้นสินทรัพย์การกันเงินสำรองและการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ที่เสียหายหรืออาจเสียหายออกจากบัญชีไว้อย่างชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของสถาบันการเงิน ทั้งนี้ นโยบายและวิธีปฏิบัติดังกล่าวต้องรวมเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) การกำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบของกรรมการ เจ้าหน้าที่บริหารและพนักงานของสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง
(๒) การพิจารณาปัจจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพในการจัดชั้นสินทรัพย์
(๓) การกำหนดสมมติฐานและวิธีการคำนวณการกันเงินสำรอง
(๔) การตัดจำหน่ายหนี้สูญและหนี้สูญรับคืนของสถาบันการเงิน
(๕) ระบบการควบคุมภายในและแนวทางการบันทึกบัญชี
(๖) การตรวจสอบความถูกต้องในการจัดชั้นสินทรัพย์ การกันเงินสำรองและการตัดจำหน่ายหนี้สูญ รวมถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูลหลักฐานที่นำมาใช้ประกอบ

๕.๒.๒ การจัดชั้นสินทรัพย์
สถาบันการเงินต้องจัดชั้นสินทรัพย์ตามลักษณะสินทรัพย์ดังต่อไปนี้เป็นรายบัญชี โดยสถาบันการเงินต้องคำนึงถึงความเกี่ยวเนื่องของกระแสเงินสดรับของแต่ละบัญชีด้วย ซึ่งหากกระแสเงินสดของลูกหนี้หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับลูกหนี้มีความเกี่ยวเนื่องกัน ก็อาจต้องจัดชั้นไว้ด้วยกัน
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจสั่งการให้มีการเปลี่ยนแปลงการจัดชั้นสินทรัพย์ได้หากพิจารณาเห็นสมควร

(๑) สินทรัพย์จัดชั้นสูญ หมายถึง สินทรัพย์ที่เข้าลักษณะตามข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
(๑.๑) สิทธิเรียกร้องซึ่งได้ปฏิบัติการโดยสมควร เพื่อให้ได้รับชำระหนี้แต่ไม่มีทางที่จะได้รับชำระหนี้แล้ว โดยให้พิจารณาตามเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑.๑.๑) ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย เป็นคนสาบสูญ หรือมีหลักฐานว่าหายสาบสูญไป และไม่มีทรัพย์สินใด ๆ จะชำระหนี้ได้
(๑.๑.๒) ลูกหนี้เลิกกิจการ และมีหนี้ของเจ้าหนี้รายอื่นมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้อยู่ในลำดับก่อนเป็นจำนวนมากกว่าทรัพย์สินของลูกหนี้
(๑.๑.๓) สถาบันการเงินได้ฟ้องลูกหนี้หรือได้ยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้อง และในกรณีนั้น ๆ ได้มีคำบังคับหรือคำสั่งของศาลแล้วแต่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใด ๆ จะชำระหนี้ได้
(๑.๑.๔) สถาบันการเงินได้ฟ้องลูกหนี้ในคดีล้มละลาย หรือได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีล้มละลาย และในกรณีนั้น ๆ ได้มีการประนอมหนี้กับลูกหนี้ โดยศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้นั้น หรือลูกหนี้ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายและได้มีการแบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ครั้งแรกแล้ว
(๑.๒) สิทธิเรียกร้องซึ่งตามพฤติการณ์ไม่อาจเรียกให้ชำระหนี้ได้
(๑.๓) สินทรัพย์อื่นซึ่งชำรุด เสียหาย หรือหมดราคา
(๑.๔) ส่วนสูญเสียที่เกิดจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

(๒) สินทรัพย์จัดชั้นสงสัยจะสูญ หมายถึง สินทรัพย์ที่เข้าลักษณะตามข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
(๒.๑) ลูกหนี้ที่ค้างชำระต้นเงิน หรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า ๑๒ เดือน นับแต่วันถึงกำหนดชำระ ไม่ว่าจะเป็นไปตามเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาตามสัญญาหรือวันที่สถาบันการเงินทวงถามหรือเรียกให้ชำระคืน แล้วแต่วันใดจะถึงก่อน ยกเว้นลูกหนี้ที่จัดชั้นสูญแล้ว สำหรับกรณีลูกหนี้เงินเบิกเกินบัญชีให้จัดชั้นตาม (๒.๒)
(๒.๒) ลูกหนี้เงินเบิกเกินบัญชีที่ไม่มีวงเงิน หรือถูกยกเลิกวงเงินหรือมีวงเงินตามสัญญาแต่ยอดหนี้เกินวงเงิน หรือครบกำหนดสัญญาแล้ว และไม่มีเม็ดเงินนำเข้าบัญชีเพื่อชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยเกินกว่า ๑๒ เดือน นับแต่วันที่ถูกยกเลิกวงเงิน หรือวันที่ยอดหนี้เกินวงเงิน หรือวันที่ครบกำหนดสัญญาแล้วแต่วันใดจะถึงก่อน
(๒.๓) อสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาจากการชำระหนี้ หรือซื้อจากการขายทอดตลาด เฉพาะส่วนที่เป็นผลต่างของราคาตามบัญชีที่สูงกว่ามูลค่าที่ได้จากการประเมินราคา หรือตีราคาไว้ไม่เกิน ๑๒ เดือน โดยมูลค่าที่กล่าวให้หักด้วยประมาณการค่าใช้จ่ายในการขายก่อนนำไปเปรียบเทียบกับราคาตามบัญชี แต่หากสถาบันการเงินได้ทำการประเมินราคา หรือตีราคาไว้เกินกว่า ๑๒ เดือน ให้นำมูลค่าที่ได้จากการประเมินราคาหรือตีราคามาใช้ได้เพียงร้อยละ ๕๐ ทั้งนี้ ในการประเมินราคา หรือตีราคาอสังหาริมทรัพย์ที่กล่าวให้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การประเมินมูลค่าหลักประกันของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
(๒.๔) สินทรัพย์อื่นเฉพาะส่วนที่เป็นผลต่างของราคาตามบัญชีที่สูงกว่ามูลค่ายุติธรรม หรือมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืน ทั้งนี้ สถาบันการเงินต้องกำหนดมูลค่ายุติธรรมหรือมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืนตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในมาตรฐานการบัญชี
(๒.๕) สินทรัพย์หรือสิทธิเรียกร้องที่คาดว่าจะเรียกคืนไม่ได้ทั้งจำนวน
(๒.๖) ส่วนสูญเสียที่เกิดจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
(๒.๗) มีเหตุประการอื่นที่แสดงว่าสินทรัพย์ หรือสิทธิเรียกร้องนั้นจะเรียกคืนไม่ได้ทั้งจำนวนตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสั่ง

(๓) สินทรัพย์จัดชั้นสงสัย หมายถึง สินทรัพย์ที่เข้าลักษณะตามข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
(๓.๑) ลูกหนี้ที่ค้างชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า ๖ เดือน นับแต่วันถึงกำหนดชำระ ไม่ว่าจะเป็นไปตามเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาตามสัญญา หรือวันที่สถาบันการเงินทวงถามหรือเรียกให้ชำระคืน แล้วแต่วันใดจะถึงก่อน ยกเว้นลูกหนี้ที่จัดชั้นสูญหรือสงสัยจะสูญแล้ว สำหรับกรณีลูกหนี้เงินเบิกเกินบัญชีให้จัดชั้นตาม (๓.๒)
(๓.๒) ลูกหนี้เงินเบิกเกินบัญชีที่ไม่มีวงเงิน หรือถูกยกเลิกวงเงินหรือมีวงเงินตามสัญญาแต่ยอดหนี้เกินวงเงิน หรือครบกำหนดสัญญาแล้ว และไม่มีเม็ดเงินนำเข้าบัญชีเพื่อชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยเกินกว่า ๖ เดือน นับแต่วันที่ถูกยกเลิกวงเงิน หรือวันที่ยอดหนี้เกินวงเงินหรือวันที่ครบกำหนดสัญญาแล้วแต่วันใดจะถึงก่อน
(๓.๓) ลูกหนี้ที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว
(๓.๔) ลูกหนี้ที่หยุดดำเนินกิจการหรือเลิกกิจการ หรือกิจการของลูกหนี้อยู่ระหว่างชำระบัญชี
(๓.๕) ลูกหนี้ที่ประวิงการชำระหนี้ หรือกระทำการใด ๆ เพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ เช่น ออกไปเสียนอกราชอาณาจักร หรือยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน
(๓.๖) ลูกหนี้ที่สถาบันการเงินติดต่อไม่ได้ หรือตามตัวลูกหนี้ไม่พบหรือลูกหนี้ไปเสียจากภูมิลำเนาที่ปรากฏตามสัญญาโดยไม่แจ้งให้สถาบันการเงินทราบ
(๓.๗) ลูกหนี้ที่ไม่ปรากฏธุรกิจแน่ชัด หรือไม่ได้ประกอบธุรกิจจริงจังหรือนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
(๓.๘) สถาบันการเงินได้ยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้อง
(๓.๙) สินทรัพย์หรือสิทธิเรียกร้องที่คาดว่าจะเรียกให้ชำระคืนไม่ได้ครบถ้วน
(๓.๑๐) มีเหตุประการอื่นที่แสดงว่าสินทรัพย์หรือสิทธิเรียกร้องนั้นคาดว่าจะเรียกคืนไม่ได้ครบถ้วนตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสั่ง

(๔) สินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน หมายถึง สินทรัพย์ที่เข้าลักษณะตามข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
(๔.๑) ลูกหนี้ที่ค้างชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า ๓ เดือน นับแต่วันถึงกำหนดชำระ ไม่ว่าจะเป็นไปตามเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาตามสัญญา หรือวันที่สถาบันการเงินทวงถามหรือเรียกให้ชำระคืน แล้วแต่วันใดจะถึงก่อน ยกเว้นลูกหนี้ที่จัดชั้นสูญสงสัยจะสูญ หรือสงสัยแล้ว สำหรับกรณีลูกหนี้เงินเบิกเกินบัญชีให้จัดชั้นตาม (๔.๒)
(๔.๒) ลูกหนี้เงินเบิกเกินบัญชีที่ไม่มีวงเงิน หรือถูกยกเลิกวงเงินหรือมีวงเงินตามสัญญาแต่ยอดหนี้เกินวงเงิน หรือครบกำหนดสัญญาแล้ว และไม่มีเม็ดเงินนำเข้าบัญชีเพื่อชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยเกินกว่า ๓ เดือน นับแต่วันที่ถูกยกเลิกวงเงิน หรือวันที่ยอดหนี้เกินวงเงินหรือวันที่ครบกำหนดสัญญา แล้วแต่วันใดจะถึงก่อน
(๔.๓) มีเหตุประการอื่นที่แสดงว่าสินทรัพย์หรือสิทธิเรียกร้องนั้นมีปัญหาในการเรียกให้ชำระคืน หรือไม่ก่อให้เกิดรายได้ตามปกติตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสั่ง

(๕) สินทรัพย์จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษหรือสินทรัพย์จัดชั้นควรระวังเป็นพิเศษ หมายถึง สินทรัพย์ที่เข้าลักษณะตามข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
(๕.๑) ลูกหนี้ที่ค้างชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า ๑ เดือน นับแต่วันถึงกำหนดชำระ ไม่ว่าจะเป็นไปตามเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาตามสัญญา หรือวันที่สถาบันการเงินทวงถามหรือเรียกให้ชำระคืน แล้วแต่วันใดจะถึงก่อน ยกเว้นลูกหนี้ที่จัดชั้นสูญสงสัยจะสูญสงสัย หรือต่ำกว่ามาตรฐาน สำหรับกรณีลูกหนี้เงินเบิกเกินบัญชีให้จัดชั้นตาม (๕.๒)
(๕.๒) ลูกหนี้เงินเบิกเกินบัญชีที่ไม่มีวงเงิน หรือถูกยกเลิกวงเงิน หรือมีวงเงินตามสัญญาแต่ยอดหนี้เกินวงเงิน หรือครบกำหนดสัญญาแล้ว และไม่มีเม็ดเงินนำเข้าบัญชีเพื่อชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยเกินกว่า ๑ เดือน นับแต่วันที่ถูกยกเลิกวงเงิน หรือวันที่ยอดหนี้เกินวงเงินหรือวันที่ครบกำหนดสัญญาแล้วแต่วันใดจะถึงก่อน

(๖) สินทรัพย์จัดชั้นปกติ หมายถึง สินทรัพย์ที่เข้าลักษณะตามข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
(๖.๑) ลูกหนี้ที่ไม่ผิดนัดชำระ สำหรับกรณีลูกหนี้เงินเบิกเกินบัญชีให้จัดชั้นตาม (๖.๒)
(๖.๒) ลูกหนี้เงินเบิกเกินบัญชีที่ยังใช้ไม่เต็มวงเงิน และยังไม่ถูกยกเลิกวงเงินหรือสัญญายังไม่ครบกำหนด หรือลูกหนี้เงินเบิกเกินบัญชีที่ค้างชำระดอกเบี้ยไม่เกิน ๑ เดือน
(๖.๓) ลูกหนี้อื่นที่ไม่เข้าข่ายเป็นลูกหนี้จัดชั้นสูญ สงสัยจะสูญ สงสัยต่ำกว่ามาตรฐาน หรือกล่าวถึงเป็นพิเศษ (หรือควรระวังเป็นพิเศษ)
(๖.๔) ลูกหนี้ที่มีหนังสือยืนยันการตรวจรับงานจากหน่วยราชการตามระเบียบของหน่วยราชการนั้นที่มีระยะเวลาไม่เกิน ๖ เดือน นับแต่วันตรวจรับงาน เงินให้สินเชื่อส่วนที่มีหนังสือยืนยันนั้นให้ถือเป็นสินทรัพย์จัดชั้นปกติ

๕.๒.๓ การจัดชั้นกรณีปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด สถาบันการเงินต้องถือปฏิบัติดังต่อไปนี้
(๑) ตัดส่วนสูญเสียออกจากบัญชีหรือกันเงินสำรอง ดังต่อไปนี้
(๑.๑) ในกรณีที่สถาบันการเงินยินยอมลดต้นเงินหรือดอกเบี้ยที่ค้างชำระก่อนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือรับชำระหนี้โดยการรับโอนสินทรัพย์ตราสารการเงิน หรือรับทุนของลูกหนี้ที่เกิดจากการแปลงหนี้เป็นทุน ให้สถาบันการเงินตัดจำหน่ายบัญชีลูกหนี้และบันทึกส่วนสูญเสียที่เกิดขึ้น พร้อมกับโอนกลับรายการเงินสำรองส่วนเกินที่กันไว้เฉพาะสำหรับลูกหนี้รายนั้นทั้งจำนวนได้
(๑.๒) ในกรณีที่สถาบันการเงินยินยอมผ่อนปรนเงื่อนไขในการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้โดยไม่มีการลดต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระก่อนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งมีผลทำให้มูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืนของหนี้ที่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ได้คำนวณตามวิธีการที่กำหนดไว้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดต่ำกว่าราคาตามบัญชีเดิมรวมดอกเบี้ยค้างรับที่บันทึกในบัญชีของลูกหนี้ก่อนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้สถาบันการเงินบันทึกเงินสำรองสำหรับส่วนสูญเสียที่เกิดขึ้นดังกล่าวทั้งจำนวน ทั้งนี้ สถาบันการเงินสามารถโอนกลับรายการเงินสำรองที่กันไว้แล้วเดิมก่อนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายนั้นได้เฉพาะจำนวนที่กันไว้แล้วสูงกว่าจำนวนส่วนสูญเสียที่ต้องกัน และหากเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่ำกว่าจำนวนส่วนสูญเสียที่ต้องกันก็ให้กันเงินสำรองเพิ่มขึ้นให้ครบจำนวนส่วนสูญเสียที่ต้องกันดังกล่าว
(๑.๓) ในกรณีที่สถาบันการเงินยินยอมลดต้นเงิน หรือดอกเบี้ยที่ค้างชำระก่อนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือรับชำระหนี้บางส่วนโดยการรับโอนสินทรัพย์ ตราสารการเงิน หรือรับทุนของลูกหนี้ที่เกิดจากการแปลงหนี้เป็นทุน และผ่อนปรนเงื่อนไขในการชำระหนี้ในส่วนที่เหลือให้แก่ลูกหนี้ ให้สถาบันการเงินปฏิบัติตาม (๑.๑) สำหรับกรณีการลดต้นเงินหรือดอกเบี้ยหรือการรับชำระหนี้ดังกล่าว และปฏิบัติตาม (๑.๒) ในส่วนการผ่อนปรนเงื่อนไขในการชำระหนี้

(๒) ในระหว่างติดตามผลการปฏิบัติตามเงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ซึ่งลูกหนี้ต้องชำระเงินตามสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใหม่ติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๓ เดือน หรือ ๓ งวดการชำระเงิน แล้วแต่ระยะเวลาใดจะนานกว่า ให้ดำเนินการดังนี้
(๒.๑) ลูกหนี้ที่ถูกจัดชั้นเป็นสงสัยจะสูญ หรือสงสัยให้จัดชั้นเป็นต่ำกว่ามาตรฐาน
(๒.๒) ลูกหนี้ที่ถูกจัดชั้นเป็นต่ำกว่ามาตรฐาน หรือกล่าวถึงเป็นพิเศษ (หรือควรระวังเป็นพิเศษ) ให้คงจัดชั้นเช่นเดิม
ทั้งนี้ สถาบันการเงินจะต้องกันเงินสำรองสำหรับลูกหนี้ตามสถานะการจัดชั้นหลังการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หากเงินสำรองตาม (๒) นี้มีจำนวนสูงกว่าเงินสำรองสำหรับส่วนสูญเสียจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตาม (๑.๑) (๑.๒) และ (๑.๓)
เมื่อลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้โดยชำระเงินตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใหม่ติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๓ เดือน หรือ ๓ งวดการชำระเงินแล้ว ให้ถือเป็นลูกหนี้จัดชั้นปกติ
ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการชำระหนี้ใหม่ ให้นับระยะเวลาการค้างชำระรวมกับระยะเวลาการค้างชำระก่อนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วพิจารณาจัดชั้นตามหลักเกณฑ์การจัดชั้นเพื่อการกันเงินสำรองตามเกณฑ์ในประกาศฉบับนี้ต่อไป

(๓) สำหรับลูกหนี้ที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์

การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธปท.กำหนด

และเข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้สถาบันการเงิน

จัดชั้นลูกหนี้ดังกล่าวเป็นชั้นปกติได้ทันที

โดยไม่ต้องรอติดตามผลการปฏิบัติตามเงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
(๓.๑) ลูกหนี้ที่สามารถชำระดอกเบี้ยได้ไม่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาด (Market interest rate) โดยไม่มีช่วงปลอดการชำระดอกเบี้ย แต่อาจมีช่วงปลอดชำระเงินต้นได้
(๓.๒) ลูกหนี้ที่มีส่วนสูญเสียจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๒๐ ของยอดหนี้ตามบัญชีก่อนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งได้มีการตัดออกจากบัญชีแล้วหรือได้มีการกันเงินสำรองในอัตราดังกล่าวครบถ้วนแล้ว โดยหนี้ส่วนที่เหลือได้มีการวิเคราะห์ฐานะและกิจการของลูกหนี้ ตลอดจนกระแสเงินสดอย่างมีหลักเกณฑ์ สมเหตุสมผล และมีหลักฐานประกอบจนเชื่อได้แน่นอนว่า ลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้
(๓.๓) ลูกหนี้ในลักษณะ Loan Syndication หรือมีเจ้าหนี้หลายรายซึ่งบรรดาเจ้าหนี้ได้ตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ร่วมกันได้ และสามารถแสดงหลักฐานการวิเคราะห์ฐานะและกิจการของลูกหนี้ ตลอดจนกระแสเงินสดอย่างมีหลักเกณฑ์ สมเหตุสมผล และมีความเป็นไปได้แน่นอนที่ลูกหนี้จะปฏิบัติตามสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้
(๓.๔) กรณีที่สถาบันการเงินได้ฟ้องร้องลูกหนี้ ต่อมาได้มีการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมแล้ว และกรณีที่สถาบันการเงินได้ฟ้องร้องลูกหนี้ตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย และศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบตามคำขอประนอมหนี้ หรือแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้ว

(๔) ในกรณีที่เห็นว่ามีข้อผิดสังเกตในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจสั่งการให้มีการแก้ไข หรือให้สถาบันการเงินหาผู้เชี่ยวชาญอิสระมาประเมิน หรือทบทวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือสั่งการให้เปลี่ยนแปลงการจัดชั้นและการกันเงินสำรองสำหรับลูกหนี้ในแต่ละรายได้

๕.๒.๔ การกันเงินสำรองและการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ที่

เสียหายหรืออาจเสียหาย
สถาบันการเงินต้องตัดจำหน่ายสินทรัพย์และกันเงินสำรองตามลักษณะการจัดชั้นสินทรัพย์ ดังต่อไปนี้

(๑) สินทรัพย์จัดชั้นสูญ ให้สถาบันการเงินตัดออกจากบัญชีทั้งจำนวน

(๒) สินทรัพย์จัดชั้นสงสัยจะสูญ จัดชั้นสงสัย หรือจัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน
(๒.๑) ให้สถาบันการเงินกันเงินสำรองในอัตราร้อยละ ๑๐๐ สำหรับส่วนต่างระหว่างยอดหนี้คงค้างตามบัญชีกับมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับจากลูกหนี้หรือมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับจากการจำหน่ายหลักประกันโดยใช้วิธีการคำนวณมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับจากลูกหนี้ หรือมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับจากการจำหน่ายหลักประกันตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดในเอกสารแนบ 2
สำหรับหลักประกันประเภทอื่นนอกเหนือจากอสังหาริมทรัพย์สิทธิการเช่า เครื่องจักร และยานพาหนะ ให้สถาบันการเงินสามารถนำมูลค่าของหลักประกันตามตารางสรุปประเภทของหลักประกันและมูลค่าของหลักประกันที่สามารถนำมาหักออกจากราคาตามบัญชีของลูกหนี้ก่อนการกันเงินสำรองตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดได้ โดยมิต้องคำนวณมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับจากการจำหน่ายหลักประกันดังกล่าว
(๒.๒) กรณีสินเชื่อรายย่อยที่สามารถจัดกลุ่มสินเชื่อที่มีลักษณะความเสี่ยงด้านเครดิตคล้ายคลึงกันได้อย่างเหมาะสม สถาบันการเงินสามารถเลือกกันเงินสำรองตามข้อ (๒.๑) หรือกันเงินสำรองแบบกลุ่มสินเชื่อ (Collective Approach) โดยใช้วิธีผลขาดทุนจากประสบการณ์ในอดีตตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดในเอกสารแนบ 3
ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่าสมมติฐานและปัจจัยที่ใช้พิจารณาในการคำนวณกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับจากลูกหนี้ หรือมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับจากการจำหน่ายหลักประกัน หรือผลขาดทุนจากประสบการณ์ในอดีตสำหรับการกันเงินสำรองแบบกลุ่มสินเชื่อที่มีลักษณะความเสี่ยงด้านเครดิตคล้ายคลึงกันไม่เหมาะสม ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจสั่งการให้สถาบันการเงินนั้นกันเงินสำรองเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนวิธีการคำนวณเงินกันสำรองได้

(๓) สินทรัพย์จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือจัดชั้นปกติ
(๓.๑) ให้สถาบันการเงินกันเงินสำรองโดยใช้ยอดคงค้างของต้นเงินที่ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับเป็นฐานในการคำนวณจากอัตราดังต่อไปนี้
(๓.๑.๑) ร้อยละ ๒ ของสินทรัพย์จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ
(๓.๑.๒) ร้อยละ ๑ ของสินทรัพย์จัดชั้นปกติ
(๓.๒) กรณีสินเชื่อที่สามารถจัดกลุ่มสินเชื่อที่มีลักษณะความเสี่ยงด้านเครดิตคล้ายคลึงกันได้อย่างเหมาะสม สถาบันการเงินสามารถเลือกกันเงินสำรองตามข้อ (๓.๑) หรือกันเงินสำรองแบบกลุ่มสินเชื่อ (Collective Approach) โดยใช้วิธีผลขาดทุนจากประสบการณ์ในอดีตตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
ทั้งนี้ หากสถาบันการเงินมีระบบฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการคำนวณการกันเงินสำรองแบบกลุ่มสินเชื่อตามข้อ (๓.๒) ไม่เพียงพอ เช่น น้อยกว่า ๕ ปี เป็นต้น ให้สถาบันการเงินกันเงินสำรองตามที่คำนวณได้ในข้อ (๓.๒) หรือ (๓.๑) แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า

๕.๒.๕ การกันเงินสำรองสำหรับรายการภาระผูกพัน (รายการนอกงบดุล)
(๑) รายการนอกงบดุลที่ต้องกันเงินสำรอง
สถาบันการเงินต้องกันเงินสำรองสำหรับภาระผูกพันที่เป็นรายการนอกงบดุลที่เข้าเงื่อนไขทุกข้อ ดังต่อไปนี้
(๑.๑) ภาระผูกพันที่เป็นรายการนอกงบดุลของลูกหนี้ที่ถูกจัดชั้นเป็นสินทรัพย์จัดชั้นสูญ สงสัยจะสูญ สงสัย และต่ำกว่ามาตรฐาน ตามข้อ ๕.๒.๒
(๑.๒) ภาระผูกพันที่เป็นรายการนอกงบดุลที่พึงรับรู้ประมาณการหนี้สินเป็นหนี้สินในงบดุลตามข้อ ๑๔ ของมาตรฐานการบัญชีของประเทศไทย ฉบับที่ ๕๓ เมื่อเข้าเงื่อนไขทุกข้อ ต่อไปนี้
(๑.๒.๑) มีภาระผูกพันในปัจจุบันซึ่งเกิดจากเหตุการณ์ในอดีตไม่ว่าภาระผูกพันนั้นจะเป็นภาระผูกพันตามกฎหมายหรือภาระผูกพันจากการอนุมาน
(๑.๒.๒) มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่สถาบันการเงินจะสูญเสียทรัพยากรที่มีประโยชน์เชิงเศรษฐกิจต่อกิจการเพื่อจ่ายชำระภาระผูกพันดังกล่าว และ
(๑.๒.๓) สามารถประมาณมูลค่าภาระผูกพันได้อย่างน่าเชื่อถือ
(๑.๓) ภาระผูกพันที่เป็นรายการนอกงบดุลที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตในระดับสูง เช่น การค้ำประกันการกู้ยืม การอาวัล หรือภาระผูกพันที่สถาบันการเงินไม่สามารถยกเลิกได้ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดค่าแปลงสภาพ (Credit Conversion Factor) ในการคำนวณเงินกองทุนที่ต้องดำรงเท่ากับ ๑ ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการคำนวณสินทรัพย์เสี่ยงด้านเครดิตสำหรับธนาคารพาณิชย์ หรือสำหรับบริษัทเงินทุน หรือของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ แล้วแต่กรณี
(๒) อัตราส่วนในการกันเงินสำรอง
สถาบันการเงินต้องกันเงินสำรองสำหรับภาระผูกพันที่เป็นรายการนอกงบดุลที่เข้าเงื่อนไขตามข้อ (๑) ในอัตราเดียวกันกับอัตราการกันเงินสำรองของลูกหนี้รายเดียวกันที่ปรากฏในงบดุล
ในกรณีที่ลูกหนี้รายดังกล่าวมีหนี้หลายประเภทและหนี้แต่ละประเภทมีอัตราการกันเงินสำรองแตกต่างกัน ให้สถาบันการเงินกันเงินสำรองสำหรับภาระผูกพันที่เป็นรายการนอกงบดุลโดยใช้อัตราเดียวกันกับการกันเงินสำรองสูงสุดของลูกหนี้รายนั้น เว้นแต่สถาบันการเงินสามารถแบ่งแยกที่มาของการชำระเงินของรายการภาระผูกพันนั้นได้ว่าเกี่ยวข้องกับหนี้บัญชีใดของลูกหนี้ ก็ให้สามารถกันเงินสำรองสำหรับภาระผูกพันในอัตราเดียวกันกับอัตราการกันเงินสำรองของหนี้บัญชีนั้นได้
ให้สถาบันการเงินรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการกันเงินสำรองดังกล่าวไว้ในรายการค่าใช้จ่ายอื่น ๆ และหนี้สินอื่น และหากต่อมาธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับรายการของตารางรหัส (classification) ที่ใช้ประกอบการจัดทำชุดข้อมูล (Data Set) โดยเพิ่มรหัสบัญชีดังกล่าวข้างต้นแล้ว ให้สถาบันการเงินรายงานตามรหัสบัญชีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดขึ้นต่อไป และให้จัดเก็บหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการกันเงินสำรองดังกล่าวไว้ที่สถาบันการเงินเองเพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถตรวจสอบได้

๕.๒.๖ การกันเงินสำรองสำหรับลูกหนี้ให้เช่าซื้อ และลูกหนี้ให้เช่าแบบลีสซิ่ง
สถาบันการเงินต้องคำนวณจากยอดลูกหนี้ตามจำนวนเงินให้เช่าซื้อ หรือให้เช่าแบบลีสซิ่งคงค้างซึ่งเป็นยอดสุทธิที่หักยอดคงเหลือจากดอกผลเช่าซื้อรอการตัดบัญชี หรือรายได้ทางการเงินรอการรับรู้ออกแล้ว
ทั้งนี้ กรณีที่เป็นการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่ง ในกรณียานพาหนะและเครื่องจักร สถาบันการเงินสามารถนำมูลค่าของยานพาหนะและเครื่องจักรตามที่กำหนดในข้อ ๕.๒.๙ มาหักออกจากยอดลูกหนี้ตามวรรคหนึ่งก่อนการกันเงินสำรองได้

๕.๒.๗ การกันเงินสำรองสำหรับลูกหนี้ที่มีสัญญาจะซื้อจะขาย
ในการคำนวณเงินกันสำรองสำหรับลูกหนี้ที่สถาบันการเงินมีสัญญาจะซื้อจะขายให้กับบุคคลภายนอก สถาบันการเงินต้องคำนวณการกันสำรองโดยให้นำมูลค่าตามราคาซื้อขายมาหักออกจากราคาตามบัญชีของลูกหนี้ก่อนการกันเงินสำรองโดยมีเงื่อนไข ดังนี้
(๑) ต้องมีหนังสือค้ำประกันการซื้อจากสถาบันการเงินอื่น หรือผู้ซื้อได้มีการวางเงินเป็นประกันไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๒๐ ของราคาซื้อขาย
(๒) ต้องดำเนินการซื้อขายให้แล้วเสร็จภายใน ๑ ปี นับจากวันทำสัญญาจะซื้อจะขาย

๕.๒.๘ การกันเงินสำรองสำหรับลูกหนี้เงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์
ในกรณีสถาบันการเงินที่เป็นบริษัทเงินทุนที่ยังมีลูกหนี้เงินให้กู้ยืม เพื่อซื้อหลักทรัพย์อยู่ก่อนที่จะทำการแยกธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ออกจากกัน ให้จัดชั้นเฉพาะส่วนต่างระหว่างยอดหนี้ที่สูงกว่ามูลค่าหลักประกันเป็นสินเชื่อจัดชั้นสงสัยจะสูญ และกันเงินสำรองในอัตราร้อยละ ๑๐๐

๕.๒.๙ การนำมูลค่าหลักประกันไปใช้ในการกันเงินสำรอง
ในการกันเงินสำรองสำหรับสินทรัพย์จัดชั้นทุกประเภท เว้นแต่สินทรัพย์จัดชั้นสงสัยจะสูญตามข้อ ๕.๒.๒ (๒.๓) (๒.๔) และ (๒.๖) ให้นำมูลค่าของหลักประกันซึ่งได้ประเมินราคาตามแนวนโยบายการประเมินมูลค่าหลักประกันและอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่ได้มาจากการชำระหนี้ของสถาบันการเงินตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดมาหักออกจากราคาตามบัญชีของลูกหนี้ก่อนการกันเงินสำรอง โดยสถาบันการเงินสามารถเลือกที่จะนำหลักประกันมาหักออกจากบัญชีใดของลูกหนี้ก่อนก็ได้

"Credit card is the path to the dark side. Credit card leads to eager. Eager leads to avarice. Avarice leads to debt. Debt leads to suffering and dark side."
Anakin.Debt

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

11 ปี 10 เดือน ที่ผ่านมา #12222 โดย Pych
ทั้งนี้ มูลค่าของหลักประกันที่นำมาหักได้จะต้องไม่สูงเกินกว่าวงเงินที่ระบุในสัญญาจำนำ สัญญาจำนอง สัญญาค้ำประกัน หรือสัญญาหลักประกันอื่นแล้วแต่กรณี และประเภทหลักประกัน มูลค่าที่จะนำมาหักได้ รวมทั้งความถี่ในการประเมินราคาหลักประกันแต่ละประเภทให้เป็นไปตามตารางสรุปประเภทของหลักประกัน และมูลค่าของหลักประกันที่สามารถนำมาหักออกจากราคาตามบัญชีของลูกหนี้ก่อนการกันเงินสำรองตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตามเอกสารแนบ 4

๕.๒.๑๐ การจ่ายเงินปันผล
ในระหว่างเวลาที่สถาบันการเงินยังไม่ได้ตัดสินทรัพย์ที่เสียหายออกจากบัญชีหรือยังกันเงินสำรองสำหรับสินทรัพย์และภาระผูกพันที่อาจเสียหายและไม่เสียหายไม่ครบทั้งจำนวน สถาบันการเงินจะจ่ายเงินปันผลหรือเงินตอบแทนอื่นใดแก่ผู้ถือหุ้นมิได้

๕.๒.๑๑ การกันเงินสำรองที่เข้มงวดกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
ในกรณีที่สถาบันการเงินประสงค์จะจัดชั้นสินทรัพย์และกันเงินสำรองโดยใช้เกณฑ์ที่เข้มงวดกว่าข้อกำหนดตามประกาศฉบับนี้ ให้สถาบันการเงินสามารถกระทำได้
ทั้งนี้ ในกรณีที่สถาบันการเงินมีความประสงค์จะตัดลูกหนี้ออกจากบัญชีเนื่องจากเห็นว่าไม่สามารถที่จะเรียกชำระหนี้คืนได้ เช่น ได้ดำเนินคดีทางกฎหมายแล้ว ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้ได้ หรือไม่มีบุคคลค้ำประกัน หรือหลักประกันไม่มีค่าแล้ว สถาบันการเงินสามารถดำเนินการได้ รวมถึงกรณีการตัดลูกหนี้ออกจากบัญชี สามารถตัดบัญชีใดบัญชีหนึ่งออกก็ได้ และเพื่อประโยชน์ในการควบคุมและเพื่อป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต สถาบันการเงินควรดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติในการตัดลูกหนี้ออกจากบัญชี และการควบคุมภายในให้ชัดเจนและสามารถตรวจสอบได้
(๒) การตัดลูกหนี้ออกจากบัญชีจะต้องไม่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่กรรมการผู้บริหารระดับสูง ผู้ถือหุ้นของสถาบันการเงิน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือกิจการที่บุคคลดังกล่าวมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง

๕.๒.๑๒ การสอบทานเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพัน
สถาบันการเงินต้องทำการสอบทานและจัดทำรายงานการสอบทานเงินให้สินเชื่อ เงินให้กู้ยืม ภาระผูกพัน และธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อตามแนวนโยบายการสอบทานเงินให้สินเชื่อ เงินให้กู้ยืม ภาระผูกพัน และธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

๖. วันเริ่มต้นบังคับใช้
ประกาศฉบับนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่งวดการบัญชีหลังของปี ๒๕๕๑ เป็นต้นไป


ประกาศ ณ วันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑
ธาริษา วัฒนเกส
ผู้ว่าการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย

"Credit card is the path to the dark side. Credit card leads to eager. Eager leads to avarice. Avarice leads to debt. Debt leads to suffering and dark side."
Anakin.Debt
สมาชิกต่อไปนี้บอกขอบคุณ: noompla, Champcyber99

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

ผู้ดูแล: Badmankonsiam
เวลาที่ใช้ในการสร้างหน้าเว็บ: 1.335 วินาที
ขับเคลื่อนโดย ระบบฟอรัม Kunena