ไขข้อข้องใจ “การอายัดเงินเดือน”

11 ปี 3 เดือน ที่ผ่านมา - 11 ปี 3 เดือน ที่ผ่านมา #28147 โดย jackTs
จากปัญหาที่ถูกถามเข้ามาเกี่ยวกับเรื่อง "การอายัดเงินเดือน " ของสมาชิกที่ผ่านๆมา
โดยส่วนใหญ่จะเป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ "ระยะเวลา" หรือ "การปฎิบัติ" และ "การขอลดหย่อน"…เป็นต้น

ซึ่งสามารถสรุปคำถามต่างๆ เป็นประเด็นได้ตาม"ตัวอย่างคำถาม"ที่อยู่ในด้านล่างนี้

.
อนณสุข ปรมาลาภา

ความไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ
สมาชิกต่อไปนี้บอกขอบคุณ: Nok2865

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

11 ปี 3 เดือน ที่ผ่านมา - 8 ปี 3 เดือน ที่ผ่านมา #28148 โดย jackTs
ถาม : ถูกศาลพิพากษาแล้ว อีกนานแค่ไหนถึงจะโดนอายัดเงินเดือน?

ตอบ : การอายัดเงินเดือน หรือการอายัดทรัพย์ใดๆนั้น จะใช้เวลานานเท่าใดนั้น มันขึ้นอยู่กับความขยันของฝ่ายโจทก์(เจ้าหนี้) ที่จะเป็นผู้นำคำพิพากษาของศาล ไปเขียนคำร้องขอต่อกรมบังคับคดีให้เป็นผู้ทำการอายัด โดยให้เหตุผลว่าลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาล(ดื้อแพ่ง)
เจ้าหนี้จึงจำเป็นต้องยื่นคำร้องดังกล่าวต่อกรมบังคับคดี พร้อมกับแนบหลักฐานว่า เจ้าหนี้สืบพบว่าลูกหนี้ในคดีนี้ ทำงานอยู่ที่บริษัท xxxx จำกัด โดยหลังจากนี้ ทางกรมบังคับคดีก็จะจัดส่งจดหมาย ไปถึงยังผู้บริหารของบริษัท xxxx จำกัด เพื่อให้ทำการหักอายัดเงินเดือนของลูกจ้าง(จำเลยที่ถูกพิพากษา) พร้อมกับให้นายจ้างเป็นผู้นำส่งเงินที่อายัดจำนวนนี้ ส่งมาให้กรมบังคับคดีทุกเดือน เพื่อชดใช้หนี้ตามคำพิพากษาจนกว่าจะหมดหนี้

ดังนั้น...ระยะเวลาในการอายัดใดๆ ของกรมบังคับคดี หลังจากที่ศาลได้พิพากษาไปแล้วนั้น...มันจึงไม่แน่นอน (ถึงแม้นว่าในคำพิพากษา จะเขียนเอาไว้โดยชัดเจนว่า บังคับภายใน 15 หรือ 30 วัน ก็ตามที) เพราะเงื่อนไขของระยะเวลาดังกล่าว มันขึ้นอยู่กับทางฝ่ายโจทก์(เจ้าหนี้)เอง ว่าจะไปยื่นเรื่องเมื่อไหร่?

ยังมีเงื่อนไขแห่งความล่าช้าของการอายัดอีกประการหนึ่ง...กล่าวคือ

เนื่องจากยังมีคดีในการติดตามอายัดต่างๆ ที่ค้างอยู่ในกรมบังคับคดีจำนวนมหาศาล ที่ยังรอคิวเพื่อทำเรื่องส่งอายัดอยู่อีกตั้งมากมายหลายคดี

โดยทั้งนี้ทั้งนั้น ยังขึ้นอยู่กับเขตพื้นที่ของกรมบังคับคดีในแต่ละจังหวัดอีกด้วย เพราะในบางจังหวัดมีคดีในการฟ้องร้องบังคับคดีกันน้อยมาก อย่างจังหวัดซึ่งอยู่ในพื้นที่ความเจริญน้อย เช่น จังหวัด แม่ฮ่องสอน , น่าน , ตราด , ระนอง , สตูล , พังงา , ยโสธร , เลย , และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้…เป็นต้น จังหวัดเหล่านี้จะมีคดีที่ถูกยื่นให้ทำการอายัดน้อยคดี จึงสามารถดำเนินการอายัดบังคับคดีได้โดยเร็วเพราะไม่ต้องรอคิวนาน

ส่วนจังหวัดที่มีความเจริญสูงมากๆ ก็จะมีคดีที่รอคิวให้ทำการอายัดเป็นจำนวนมาก อย่างจังหวัดซึ่งอยู่ในพื้นที่ความเจริญสูง เช่นจังหวัด กรุงเทพมหานครและปริมณฑล , ชลบุรี , เชียงใหม่ , นครราชสีมา , ขอนแก่น , อุบลราชธานี , อุดรธานี , สงขลา...เป็นต้น จังหวัดเหล่านี้จะมีคดีที่ถูกยื่นให้ทำการอายัดเป็นจำนวนมาก จึงสามารถดำเนินการอายัดบังคับได้ช้ามาก เพราะไม่รู้ว่าต้องรออีก กี่พัน กี่หมื่นคดี กว่าจะถึงคิวของตน

ดังนั้น...ในความเป็นจริงแล้ว ทุกคนที่ถูกอายัด...กว่าจะ"โดน" ก็เกินกว่าที่กฏหมายกำหนดไว้ (15 วัน) กันทั้งนั้น...และแต่ละคนจะมีระยะเวลาในการ"โดน"ที่ไม่เท่ากันเลย...เอาแน่นอนอะไรไม่ได้เลย

บางคน"โดน"หลังจากที่ศาลพิพากษา เพียงแค่ 2 เดือน

บางคนก็"โดน"หลังจากศาลพิพากษาไปแล้ว 4 เดือน

บางคนก็"โดน"หลังจากศาลพิพากษาไปแล้ว 6 เดือน

บางคนก็"โดน"หลังจากศาลพิพากษาไปแล้ว 1 ปี

บางคนก็"โดน"หลังจากศาลพิพากษาไปแล้ว 2 ปี

บางคนก็"โดน"หลังจากศาลพิพากษาไปแล้ว 4 ปี

บางคนก็"โดน"หลังจากศาลพิพากษาไปแล้ว 6 ปี


แล้วจะเอาตรงไหนมาเป็นบรรทัดฐานดีล่ะครับ?




ตัวอย่าง หนังสืออายัดเงินเดือน


.
อนณสุข ปรมาลาภา

ความไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ
ไฟล์ที่แนบมาด้วย:
สมาชิกต่อไปนี้บอกขอบคุณ: Nok2865

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

11 ปี 3 เดือน ที่ผ่านมา - 6 ปี 6 เดือน ที่ผ่านมา #28149 โดย jackTs
ถาม : ผมทำงานเป็นพนักงานของบริษัท A ครับ
หากมีหมายอายัดเงินเดือนส่งมาที่บริษัทของผมแล้ว ผมจะขอส่งเงินอายัดด้วยตนเองได้ไหมครับ เพราะไม่อยากให้ทางบริษัทต้องยุ่งยาก


ตอบ : ในอดีต...เคยมีกฏหมายที่อนุโลมให้“ลูกจ้าง”ที่เป็นจำเลย(ลูกหนี้)ตามคำพิพากษา สามารถนำส่งเงินเดือนที่อายัดตนเองได้
ในอดีตที่ผ่านๆมา จึงมีจำเลย(ลูกจ้าง)ตามคำพิพากษา ที่หักเงินเดือนของตัวเองและนำส่งโดยถูกต้อง
ตามกฏหมายเพียง 2% เท่านั้น

ส่วนอีก 3% ส่งไม่ครบตามจำนวนที่กฏหมายกำหนด หรือ ส่งบ้าง-ไม่ส่งบ้าง

และอีก 95% ไม่ส่งเลยสักบาท

ดังนั้น ในปัจจุบันจึงได้มีการแก้ไขกฏหมาย เพื่อทำการบังคับ“นายจ้าง”ให้เป็นผู้หักและนำส่งเงินเดือนที่อายัดจากลูกจ้างผู้นั้น ตามหมายอายัดของกรมบังคับคดี

หาก“นายจ้าง”ไม่ยอมปฎิบัติตาม นายจ้างอาจถูกฟ้องให้ต้องเป็นผู้ชดใช้หนี้แทนลูกจ้างผู้นั้น ตามมาตรา 312



อ้างอิงข้อมูลจาก

ขอถามแทนนายจ้าง เรื่องการบังคับคดี อายัดเงินเดือน
www.debtclub.consumerthai.org/index.php?option=com_kunena&func=view&catid=5&id=6893&Itemid=52#6916


ถ้าบริษัทไม่อายัดเงินเดือนตามคำสั่งกรมบังคับคดี บริษัทจะมีความผิดตามกฎหมายอะไร
test.led.go.th/faqn/pdf/aryad091058.pdf

.
อนณสุข ปรมาลาภา

ความไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ
สมาชิกต่อไปนี้บอกขอบคุณ: Nok2865

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

11 ปี 3 เดือน ที่ผ่านมา - 4 ปี 9 เดือน ที่ผ่านมา #28150 โดย jackTs
ถาม : การอายัดเงินเดือน จะถูกอายัดที่เท่าไหร่ครับ?

ตอบ : ขออธิบายเกี่ยวกับเรื่องพื้นฐานของการอายัดเงินเดือนตามนี้นะครับ

ตามกฏหมายแล้ว การอายัดเงินเดือนจะสามารถอายัดได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายรับรวมทั้งหมด ของเดือนนั้นๆที่ได้รับ

ไม่ใช่ให้คิดมาจากฐานเงินเดือนเพียงอย่างเดียว


ตามที่ผมเคยเขียนกระทู้เอาไว้ดังนี้

การอายัดเงินเดือน หมายถึง “การอายัดรายได้ทั้งหมด ทุกๆรายรับที่ลูกหนี้ได้รับจากนายจ้างในแต่ละเดือน โดยรายได้นั้นๆ ต้องถูกนำไปหักเป็นภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ตาม ภงด.91”
โดยไม่สนใจว่ารายได้นั้นๆจะมาจาก เงินเดือนแท้ๆ , ค่าตำแหน่ง , ค่าทำงานล่วงเวลา(O.T) , ค่าคอมมิชชั่น , ค่าน้ำมัน , ค่าเข้ากะ , ค่าเบี้ยขยัน , ค่าครองชีพ , ค่าสวัสดิการต่างๆ...ฯลฯ
หากรายได้นั้นๆ ไปโผล่อยู่ในใบสลิปเงินเดือนของลูกจ้าง(ลูกหนี้) และถูกนำไปหักคำนวนเป็นภาษี หรือประกันสังคม
ในทางกฏหมายจะถูกมองว่า..."รายได้รวมทั้งหมดในใบสลิปนั่นแหละครับ ก็คือเงินเดือนที่จะต้องถูกอายัดตามกฏหมาย"

ขอยกตัวอย่างเช่น
นาย ก.ทำงานเป็นพนักงานขายของ(Salesman)ของบริษัทAAA
โดย บริษัทAAA ได้กำหนดอัตราจ้าง + รายได้ และคุณสมบัติ ของ นาย ก. เอาไว้เป็นดังนี้

- นาย ก.จะต้องมีรถยนต์เป็นยานพาหนะของตนเอง ในการประสานงานและการติดต่อกับลูกค้า
- กำหนดเงินเดือนให้ นาย ก. 9,000.-บาท(ตามอัตราจ้างค่าแรงขั้นต่ำของกฏหมายแรงงาน ณ.ปัจจุบัน)
- ค่าน้ำมันรถยนต์ 3,000.-บาท/เดือน
- ค่าคอมมิชชั่น 3% จากยอดเงินที่ขายของได้
- หากยอดขายของในเดือนใด มียอดขายของในเดือนนั้นเกินกว่าสองล้านบาทต่อเดือน จะได้รับ"ค่าเบี้ยขยัน"เพิ่มให้อีก 20,000.-บาท สำหรับเดือนนั้นๆ

ซึ่งที่ผ่านมา นาย ก.ขายของได้เก่งมาก ได้ยอดขายเกินกว่าสองล้านบาทเป็นประจำทุกเดือน

ดังนั้น รายได้ของ นาย ก.ต่อเดือน ก็จะเป็นไปดังนี้
เงินเดือน 9,000 + ค่าน้ำมันรถ 3,000 + ค่าคอมมิชชั่น(ไม่น้อยกว่า)60,000 + ค่าเบี้ยขยัน 20,000
รายรับทั้งหมดของ นาย ก.จึงไม่ต่ำกว่า 92,000.-บาท/เดือน(เป็นอย่างน้อย)

เมื่อนาย ก.ถูกหมายอายัดเงินเดือน(หลังจากที่ไม่ชำระหนี้ตามที่ศาลพิพากษา)...แล้วนาย ก.ก็ไปชี้แจงต่อกรมบังคับคดีว่า

เงินเดือนแท้ๆของนาย ก.นั้น จริงๆแล้วเพียงแค่ 9,000.-บาทเท่านั้น
กฏหมายกำหนดเอาไว้ว่า เงินเดือนต่ำกว่าหนึ่งหมื่นบาทอายัดไม่ได้ ดังนั้นในกรณีของ นาย ก.นี้ จึงไม่สามารถอายัดเงินเดือนได้เลยแม้แต่บาทเดียว
ส่วนรายได้อื่นๆต่อเดือน ที่ได้เพิ่มมาอีกแปดหมื่นกว่าบาทนั้น มันไม่ใช่เงินเดือน เพราะมันไม่ได้ถูกเรียกชื่อว่า"เงินเดือน"
กรณีนี้ทำให้ไม่สามารถอายัดเงินเดือนของนาย ก.ไม่ได้เลยสักบาท ถึงแม่ว่ารายได้รวมทั้งหมดของนาย ก.จะมากถึงเกือบแสนบาทต่อเดือนก็ตาม
จึงขอให้ทางกรมบังคับคดี ช่วยทำเรื่องไถ่ถอนอายัดเงินเดือนให้กับนาย ก.ด้วย


แล้วคุณคิดว่าเจ้าพนักงานบังคับคดี เขาจะฟังเหตุผลของนาย ก.ไหมครับ?


หวังว่าคงเข้าใจและมองเห็นภาพแล้วนะครับ ว่าทำไมกฏหมายอายัดเงินเดือน จึงถูกกำหนดมาให้เป็นเช่นนี้

และยังมีเกร็ดความรู้อื่นๆอีก อาทิเช่น

- โบนัส อายัดได้ 50% (ครึ่งหนึ่ง)

- เงินตอบแทนการออกจากงาน อายัดได้ 100 %

- เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ทำไว้กับบริษัท อายัดไม่ได้

- เงินประกันสังคม (เบี้ยสวัสดิการ , บำเหน็จ , บำนาญชราภาพ) อายัดไม่ได้

- เงินประกันชีวิต อายัดไม่ได้
ยกเว้น...หากครบอายุสัญญาที่จะต้องจ่ายเงินคืนทั้งหมดให้กับผู้ซื้อกรมธรรม์(โดยที่ผู้ซื้อกรมธรรม์ยังไม่เสียชีวิต) กรณีนี้สามารถอายัติได้
หรือ...เงินปันผลตอบแทนที่ทางบริษัทประกัน จ่ายเป็นเบี้ยปันผลให้เป็นรายเดือนให้กับผู้ซื้อกรมธรรม์(ในขณะที่ผู้ซื้อกรมธรรม์ยังไม่เสียชีวิต) เงินในส่วนนี้ก็สามารถอายัดได้เช่นกัน เพราะถือว่าเป็นเงิน รายได้/กำไร ในแต่ละเดือน


- การอายัดเงินเดือน จะสามารถใช้บังคับได้เฉพาะกับ ลูกจ้างที่เป็นพนักงานของบริษัทเอกชน หรือรัฐวิสาหกิจเท่านั้น แต่ถ้าหากจำเลย(ลูกหนี้)เป็นข้าราชการ หรือลูกจ้างประจำของหน่วยงานภาครัฐ (ลูกจ้างที่ได้รับการบรรจุ จากหน่วยงานราชการ) จะไม่สามารถอายัดเงินเดือนได้ ตามมาตรา 286(2)


- การอายัดเงินเดือนในทางกฏหมาย ให้สามารถอายัดได้สูงสุดไม่เกิน 30% จากรายรับรวมทั้งหมด ของแต่ละเดือน โดยทั้งนี้ จะต้องให้ลูกหนี้เหลือเงินเอาไว้ใช้สำหรับการดำรงชีพไม่น้อยกว่า 10,000.-บาท (หนึ่งหมื่นบาท)

ยกตัวอย่างเช่น

* หากลูกหนี้มีรายรับรวมทั้งหมดของเดือน = 9,500.-บาท จะอายัดไม่ได้เลย เพราะถือว่ามีรายได้น้อยกว่า 10,000.-บาท ตามที่กฏหมายกำหนด

* หากลูกหนี้มีรายรับรวมทั้งหมดของเดือน = 10,200.-บาท จะสามารถอายัดได้เพียงแค่ 200.-บาทเท่านั้น เพราะต้องเหลือเงินให้ลูกหนี้เอาไว้ใช้สำหรับดำรงชีพไม่น้อยกว่า 10,000.-บาท ตามที่กฏหมายกำหนด

* หากลูกหนี้มีรายรับรวมทั้งหมดของเดือน = 10,900.-บาท จะสามารถอายัดได้เพียงแค่ 900.-บาทเท่านั้น เพราะต้องเหลือเงินให้ลูกหนี้เอาไว้ใช้สำหรับดำรงชีพไม่น้อยกว่า 10,000.-บาท ตามที่กฏหมายกำหนด

* หากลูกหนี้มีรายรับรวมทั้งหมดของเดือน = 15,000.-บาท สามารถอายัดได้ 4,500.-บาท(คิดจาก 30% ของรายรับที่ 15,000.-บาท) โดยลูกหนี้จะเหลือเงินเอาไว้ใช้สำหรับดำรงชีพ 10,500.-บาท ซึ่งเหลือเกินกว่าที่กฏหมายกำหนดแล้ว จึงสามารถอายัดได้เต็มจำนวนที่ 30%



- หากลูกหนี้ มีเจ้าหนี้หลายราย การอายัดเงินเดือนจะสามารถอายัดได้ทีละรายเท่านั้น

กล่าวคือหากมีเจ้าหนี้รายใด มายื่นเรื่องอายัดเงินเดือนก่อน ก็ได้อายัดเงินเดือน(สูงสุดไม่เกิน 30%)ไปก่อนเป็นรายแรก ส่วนเจ้าหนี้รายอื่นๆที่เหลือ หากมายื่นเรื่องในภายหลัง ก็ต้องรอให้เจ้าหนี้รายแรกอายัดเงินเดือนให้หมดหนี้เสียก่อน แล้วถึงจะสามารถอายัดเป็นรายต่อไปได้
(ใครมายื่นเรื่องก่อน ก็ได้เงินเดือนไปก่อนเป็นคิวแรก ใครมายื่นเรื่องทีหลัง ก็ต้อง“เข้าแถว”รอคิวต่อไป จนกว่าจะหมดหนี้)



สรุปแล้วก็คือ การอายัดเงินเดือนในแต่ละเดือนนั้น จะคิดมาจาก
เงินเดือน บวกด้วยค่าต่างๆดังนี้ (ถ้ามี)...อาทิเช่น
+ ค่าโอที + ค่าเบี้ยกะ + ค่าเบี้ยขยัน + ค่าคอมมิชชั่น + ค่าน้ำมันรถ + ค่าเบี้ยเลี่ยง + ค่าตำแหน่ง
ได้รวมกันทั้งหมดเท่าไหร่ ก็เอาเงินจำนวนอันนี้ไปหัก 30% เพื่อนำส่งให้กับกรมบังคับคดี

ส่วนเงินโบนัส จะถูกอายัดที่ 50% (ครึ่งหนึ่ง)

.
อนณสุข ปรมาลาภา

ความไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ
สมาชิกต่อไปนี้บอกขอบคุณ: Nok2865

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

11 ปี 3 เดือน ที่ผ่านมา - 6 ปี 10 เดือน ที่ผ่านมา #28153 โดย jackTs
ถาม : ผมโดนหมายอายัดเงินเดือนแล้วครับ แต่ผมมีภาระค่าใช้จ่ายเยอะมาก หากถูกอายัดที่ 30% แบบนี้ ผมลำบากแน่ๆ
ผมสามารถขอลดหย่อนได้ไหมครับ? ถ้าหากทำได้ จะต้องทำอย่างไรบ้างครับ?


ตอบ : การขอลดหย่อนอายัดเงินเดือน ตามกฏหมายสามารถให้ขอลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 15%
โดยลูกหนี้สามารถนำสลิปเงินเดือน เอกสารค่าใช้จ่ายต่างๆในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าน้ำ , ค่าไฟ , ค่าเช่าบ้านที่เป็นชื่อของตน , ค่าเลี้ยงดู บิดา/มารดา(ซึ่งแก่ชรามากแล้ว) หรือหากมีบุตรให้นำสำเนาสูติบัตรบุตรมาประกอบด้วย
ให้ลูกหนี้มาเขียนคำร้องขอลดการอายัดได้ที่กรมบังคับคดี แล้วเจ้าพนักงานบังคับคดีจะพิจารณาว่าสามารถลดอายัดให้ได้หรือไม่ต่อไป

อนึ่ง...การร้องขอดังกล่าว จะพิจารณาจาก เอกสาร/หลักฐาน ต่างๆที่นำมาประกอบ ว่ามีเหตุผลเพียงพอในการลดหย่อนให้ได้หรือไม่ และถ้าหากลดหย่อนได้ ควรได้รับการลดหย่อนที่เท่าไหร่ จากความ น่าสงสาร/น่าเห็นใจ ของสภาพความเป็นอยู่จริง

ตัวอย่างเช่น

• ตัวอย่างที่1

ลูกหนี้มีรายรับรวมทั้งหมดในแต่ละเดือน = 20,000.-บาท ถูกอายัดเงินเดือนที่ 30% เป็นจำนวนเงิน 6,000.-บาท คงหลือเงินไว้ให้ลูกหนี้ใช้จ่าย 14,000.-บาท

แต่ลูกหนี้มีค่าใช้จ่ายต่างๆที่จำเป็น เช่น
- ค่าเช่าบ้าน 3,000.-บาท (มีใบเสร็จยืนยัน)
- ค่าน้ำประปา 200.-บาท (มีใบเสร็จยืนยัน)
- ค่าไฟฟ้า 500.-บาท (มีใบเสร็จยืนยัน)
- ค่าเลี้ยงดูบุตรในวัยเรียน 2 คน เป็นจำนวนเงิน x,xxx บาท/คน/เดือน (มีใบเกิด หรือ บัตรประชาชนของบุตรยืนยัน พร้อมค่าใบเสร็จค่าเทอม/ค่าเล่าเรียน)
- ค่าเลี้ยงดู บิดา/มารดา ที่แก่ชราภาพแล้ว(ต้องมีอายุตั้งแต่ 60ปี ขึ้นไป) เป็นจำนวนเงิน x,xxx บาท/คน/เดือน (มีบัตรประชาชนยืนยัน)

ถ้าเป็นในกรณีเช่นนี้ การร้องขอลดหย่อนอายัดเงินเดือน ก็น่าจะได้รับการอนุมัติลดหย่อนที่ 15%
จากเดิมซึ่งถูกอายัดที่ 6,000.-บาท(30%) ก็จะลดการอายัดลงมาเหลือเพียงแค่ 3,000.-บาท(15%) เท่านั้น



• ตัวอย่างที่2

ลูกหนี้มีรายรับรวมทั้งหมดในแต่ละเดือน = 35,000.-บาท ถูกอายัดเงินเดือนที่ 30% เป็นจำนวนเงิน 10,500.-บาท คงหลือเงินไว้ให้ลูกหนี้ใช้จ่าย 24,500.-บาท

แต่ลูกหนี้มีค่าใช้จ่ายต่างๆที่จำเป็น เช่น
- ค่าเช่าบ้าน 4,000.-บาท (มีใบเสร็จยืนยัน)
- ค่าน้ำประปา 300.-บาท (มีใบเสร็จยืนยัน)
- ค่าไฟฟ้า 700.-บาท (มีใบเสร็จยืนยัน)
- ค่าเลี้ยงดูบุตรก่อนวัยเรียน 1 คน เป็นจำนวนเงิน x,xxx บาท/เดือน (มีใบเกิดของบุตรยืนยัน)

ถ้าเป็นในกรณีเช่นนี้ การร้องขอลดหย่อนอายัดเงินเดือน อาจได้รับการอนุมัติลดหย่อนที่ 10%
จากเดิมซึ่งถูกอายัดที่ 10,500.-บาท(30%) ก็จะลดการอายัดลงมาเหลือเพียงแค่ 7,000.-บาท(20%) เท่านั้น



• ตัวอย่างที่3

ลูกหนี้มีรายรับรวมทั้งหมดในแต่ละเดือน = 68,000.-บาท ถูกอายัดเงินเดือนที่ 30% เป็นจำนวนเงิน 20,400.-บาท คงหลือเงินไว้ให้ลูกหนี้ใช้จ่าย 47,600.-บาท

แต่ลูกหนี้มีค่าใช้จ่ายต่างๆที่จำเป็น เช่น
- ค่าผ่อนคฤหาสน์หลังงาม 20,000.-บาท (มีใบเสร็จยืนยัน)
- ค่าผ่อนรถ Benz รุ่น S-Class 28,000.-บาท (มีใบเสร็จยืนยัน)
- ค่าน้ำประปา 700.-บาท (มีใบเสร็จยืนยัน)
- ค่าไฟฟ้า 5,800.-บาท (มีใบเสร็จยืนยัน)
- ค่าเลี้ยงดูบุตรในวัยเรียน 1 คน เป็นจำนวนเงิน x,xxx บาท (มีบัตรประชาชนของบุตรยืนยัน)

ถ้าเป็นในกรณีเช่นนี้ การร้องขอลดหย่อนอายัดเงินเดือน น่าจะได้รับการอนุมัติลดหย่อนที่ 0%
จากเดิมซึ่งถูกอายัดที่ 20,400.-บาท(30%) ก็จะให้ถูกอายัดที่ 20,400.-บาท(30%) ไว้ตามเดิม
และเผลอๆทางกรมบังคับคดีอาจเกิดความ“หมั่นไส้” แจ้งให้ทางฝ่ายเจ้าหนี้ได้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ลูกหนี้รายนี้มีรายได้ที่สูงมาก แถมยังมีทรัพย์สินหรูๆอีกตั้งมากมาย แต่ไม่ยอมชดใช้หนี้ แถมยังมีหน้ามาทำเรื่องขอลดหย่อนเสียอีก
จึงขอแจ้งข้อมูลให้ทางเจ้าหนี้รีบๆมาทำเรื่องยึดทรัพย์สินต่างๆเหล่านี้เพิ่มเติมด้วย



"ตัวอย่าง"หนังสือลดหย่อนการอายัดเงินเดือน




การขอลดหย่อนอายัดเงินเดือน ตามกฏหมายสามารถให้ขอลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 15%
ลูกหนี้สามารถนำสลิปเงินเดือน เอกสารค่าใช้จ่ายต่างๆในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าน้ำ , ค่าไฟ , ค่าเช่าบ้าน , ค่าโทรศัพท์บ้าน , ค่าโทรศัพท์มือถือ , ค่า Internet...ฯลฯ...ที่เป็นชื่อของลูกหนี้ , ค่าเลี้ยงดู บิดา/มารดา(ซึ่งแก่ชราอายุตั้งแต่ 60ปีขึ้นไป) หรือหากมีบุตรให้นำ สำเนาสูติบัตรบุตร/สำเนาบัตรประชาชนของบุตร มาแนบประกอบด้วย โดยให้ลูกหนี้มาเขียนคำร้องขอลดการอายัดได้ที่สำนักงานบังคับคดีสาขาที่เป็นผู้ออกคำสั่งให้อายัดเงินเดือน

ลูกหนี้ต้องไปติดต่อที่สำนักงานบังคับคดี ตามต้นสังกัดในจดหมายบังคับคดีอย่างเดียวนะครับ ไปติดต่อที่สำนักงานสาขาอื่นไม่ได้ (ติดต่อตามสำนักงานสาขา ที่พิมพ์อยู่บนหัวกระดาษจดหมายอายัดเงินเดือน ด้านบน-ขวามือ ข้างตราครุฑ)เท่านั้น
พอเดินทางไปถึงที่แล้ว ก็ต้องเขียนใบ"คำร้อง"ขอลดหย่อนการอายัดเงินเดือน...พร้อมกับต้องแนบเอกสาร(ถ่ายสำเนา)ที่เราต้องเตรียมไปด้วย



ผู้หญิงคนหนึ่ง เขียน: ถาม : จะไปขอลดยอดการอายัติเงินเดือน เพราะมีค่าใช้จ่ายมากแต่ไม่มีใบเสร็จไปยื่นเป็นหลักฐานต้องทำยังไงดีคะ
เงินเดือน 22,000 หักภาษี+ประกันสังคม 900
- ค่าใช้จ่ายรายวัน
1.ค่าเดินทางวันละ 80 (ไป-กลับ)
2.ค่าอาหาร 3 มื้อ 100 (เซฟสุด ๆ ไม่มีขนม ผลไม้ ไม่ปาร์ตี้) ถ้าวันไหนเผลอใจ วันต่อไปก้อ มาม่า

- ค่าใช้จ่ายรายเดือน
1.ค่าไฟขั้นต่ำ 600 (มีบิล)
2.ค่าน้ำ 400 เป็นน้ำบาดาลหมู่บ้าน (ไม่มีบิล)
3.ค่าผ่านทางเข้า-ออกบ้าน 300 (ไม่มีบิล)
4.ผ่อนคืนเจ้านายเดือนละ 10,000 (ไม่มีบิล) ยืมมาตอนพ่อเสียผ่อนยังไม่หมดแม่เสียยืมเพิ่มอีก (ใจดีป่าว) ยังค้างอยู่ แสนกว่า ตอนนั้นกำลังเป๋เรื่องหนี้บัตร กับ นอกระบบ ตอนนี้นอกระบบไม่มีแล้ว
5.ผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน ยาสระผม

- ค่าใช้จ่ายรายปี
1.ค่าเช่าที่ 26,000 จ่ายเดือนเมษาของทุกปี (ใกล้เข้ามาแล้ว)

คิดว่าต้องทำอย่างไรคะ กรมบังคับคดีถึงจะเห็นใจเรา หรือว่าต้องพึ่ง ดวง กันละทีนี้ เสี่ยงดูเนอะ


ตอบ : หลักฐานค่าใช้จ่ายหรือใบเสร็จบางอย่าง ในทางชีวิตจริงนั้น หากไม่สามารถออกใบเสร็จรับเงินได้ ก็ให้เขียนลงไปเฉยๆเลย โดยไม่ต้องแนบเอกสารหลักฐานไปด้วย

อาทิเช่น

- ค่าใช้จ่ายของลูก(ค่าเลี้ยงดูบุตร)เดือนละ 3,000 บาท...ก็เขียนลงไปเลยครับ ไม่ต้องมีหลักฐานแนบ เพราะคงไม่มีพ่อแม่คนไหนที่บอกกับลูกของตัวเองว่า "ลูกจ๋า...เดือนนี้แม่จ่ายเงินค่าอาหารไปโรงเรียน+ค่าขนม ให้ลูก เป็นเงินทั้งหมด 3,000 บาทไปแล้วนะจ๊ะ ขอให้ลูกช่วยออกใบเสร็จรับเงินให้แม่ด้วย แม่จะได้มีหลักฐานเก็บเอาไว้ยืนยัน"

หรือ

- ค่าส่งเสียเลี้ยงดูบิดามารดา เดือนละ 8,000 บาท(แบ่งเป็น ให้พ่อ 4,000 บาท ให้แม่ 4,000 บาท) ในกรณีเช่นนี้ บิดาหรือมารดาดังกล่าว จะต้องมีอายุมากแล้ว(ตั้งแต่ 60ปีขึ้นไป) จึงจะสามารถพิจารณาลดหย่อนให้ได้
ก็เขียนลงไปเลยครับ ไม่ต้องมีหลักฐานแนบ เพราะคงไม่มีลูกคนไหนที่บอกกับพ่อแม่ของตัวเองว่า "พ่อจ๋า...แม่จ๋า...เดือนที่ผ่านมาลูกได้ให้เงินค่าเลี้ยงดูให้กับพ่อและแม่ เป็นเงินทั้งหมด 8,000 บาทไปแล้วนะจ๊ะ ขอให้พ่อกับแม่ช่วยออกใบเสร็จรับเงินให้กับลูกด้วย ลูกจะได้มีหลักฐานเอาไปให้กับกรมบังคับคดี"

เพราะในชีวิตจริง มันไม่มีใครเขาขอใบเสร็จรับเงินจากลูกหรือพ่อแม่กันหรอกครับ เรื่องแบบนี้ใครๆเขารู้กันอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้ใบเสร็จใดๆ


ดังนั้น เอกสารประกอบการขอพิจารณา หลักๆก็จะประกอบไปด้วย

- ใบคำร้องขอลดหย่อนอายัดเงินเดือน (สามารถไปขอได้ที่สำนักงานบังคับคดี) ไปขอและไปเขียนกรอกได้ภายในวันนั้นเลย
- สลิปเงินเดือน หรือ ใบรับรองเงินเดือนของจำเลย (ต้องใช้ตัวจริง ห้ามถ่ายเอกสาร)
- สำเนาหมายอายัดเงินเดือนของจำเลย หรือ สำเนาคำพิพากษาของศาล
- สำเนาบัตรประชาชนของจำเลย
- สำเนาทะเบียนบ้านของจำเลย
- สำเนาสูติบัตรของบุตร(ใบเกิด) หรือ สำเนาบัตรประชาชนของบุตร พร้อมกับสำเนาทะเบียนบ้านของบุตรด้วย ในกรณีที่ต้องการอ้างว่ามีการจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรเพื่อการขอลดหย่อน
- สำเนาใบค่าเทอมของบุตรที่ผ่านมา (ถ้ามี)...เอาแค่ใบสุดท้ายใบเดียวก็พอ
- สำเนาบัตรประชาชนของ บิดา , มาดา ในกรณีที่ต้องการอ้างว่ามีการจ่ายค่าเลี้ยงดูบุพการีเพื่อการขอลดหย่อน
- สำเนาค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล บิดา , มารดา , บุตร ที่ต้องเข้ารักษาประจำ หรือเป็นโรคประจำตัว (ถ้ามี)
- สำเนาบัตรประชาชนของสามี/ภรรยาของจำเลย...ในกรณีที่สามี/ภรรยาของจำเลยไม่ได้มีงานทำ อยู่บ้านเลี้ยงลูกเฉยๆ(แต่ต้องจดทะเบียนสมรสด้วยนะครับ) หรือคู่สมรสของจำเลยอาจทำงานอื่นๆที่ไม่ใช่เป็นมนุษย์เงินเดือน เช่น ขายของ , ขายกาแฟ , ขายข้าวแกง , ขายเสื้อผ้าตามตลาดนัด , ขับรถ Taxi , ขับวินมอเตอร์ไซด์...ฯลฯ...ซึ่งอาชีพต่างๆเหล่านี้ ไม่ได้เสียภาษีประจำปีใดๆ ก็สามารถเขียนเป็นค่าเลี้ยงดูเพิ่มลงไปได้ โดยต้องแนบสำเนาทะเบียนสมรสเพิ่มไปด้วย
- สำเนาหลักฐานการจ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ถ้ามี)...เพราะเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของจำเลยนั้น อายัดไม่ได้
- สำเนาหลักฐานการส่งเงินค่าเบี้ยประกันชีวิต (ถ้ามี)...เพราะเงินประกันชีวิตของจำเลย อายัดไม่ได้
- เอกสารค่าใช้จ่ายอื่นๆเท่าที่มี และสามารถหาได้...เช่น ค่าน้ำประปา , ค่าไฟฟ้า , ค่าโทรศัพท์ , ค่า Internet (ถ้ามี)

สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนตัวของลูกหนี้ในแต่ละเดือน ก็ให้กรอกลงตัวเลขไปตามความเป็นจริงที่ไม่ฟุ่มเฟือยจนเกินไปนัก เช่นไม่เกิน 9,000 บาทต่อเดือน (ค่าใช้จ่ายเฉพาะตัวของลูกหนี้เพียงคนเดียวเท่านั้น) ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ หมายถึงค่าใช้จ่ายต่างๆของตัวลูกหนี้เพียงตัวคนเดียว โดยคิดรวมมาจากค่ากินอยู่(ค่าอาหาร 3มื้อ) , ค่าเดินทาง ไป-กลับ บ้านและที่ทำงาน , ค่าซื้อของต่างๆในการดำรงชีวิตในแต่ละเดือน รวมเบ็ดเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ส่วนค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตร ก็ควรเขียนลงไปไนตัวเลขที่ไม่น่าเกลียดและไม่เวอร์จนเกินไป เช่น 2,000 บาท , 3,000 บาท หรือ 4,000 บาท ต่อบุตร 1คน ในแต่ละเดือน (ขึ้นอยู่กับอายุของบุตรด้วยว่า เป็นเด็กเล็กหรือเด็กโต และเรียนหนังสืออยู่ในชั้นระดับใดแล้ว)

ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุพการี(พ่อแม่) เช่น คนละ 4,000 บาท หรือ 5,000 บาท ต่อคน ต่อเดือน...เป็นต้น

ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูสามี/ภรรยาของจำเลย (ในกรณีที่คู่สมรสของจำเลยไม่ได้ทำงานประจำเป็นมนุษย์เงินเดือน) เช่น คนละ 4,000 บาท หรือ 5,000 บาท ต่อเดือน...เป็นต้น

ส่วนค่าผ่อนจ่ายหนี้คืนให้กับ เจ้านาย , เพื่อนฝูง หรือหนี้นอกระบบต่างๆนั้น ถ้าไม่มีเอกสารเป็นหลักฐานที่ชัดเจน ก็ไม่ต้องเขียนกรอกลงไป เพราะเสียเวลาเปล่าๆ ยังไงเจ้าหน้าที่ก็เขาไม่พิจารณาในส่วนนี้ให้อยู่แล้วถ้าหากไม่มีหลักฐานยืนยัน

หมายเหตุ
ลูกหนี้(จำเลย)สามารถไปยื่นเรื่องขอทำการลดหย่อนอายัดเงินเดือนได้ทันที ภายหลังจากที่ตัวลูกหนี้ได้รับเอกสารคำสั่งให้ต้องถูกอายัดเงิน 30%แล้ว (ไม่จำเป็นต้องรอให้โดนอายัดเงินเดือนไปก่อน แล้วค่อยมายื่นคำขอ) โดยการไปยื่นคำร้องได้ที่ สำนักงานบังคับคดีตามต้นสังกัดในจดหมายบังคับคดีเท่านั้น

โดยตัวของลูกหนี้เอง จะได้รับผลการอนุมัติคำสั่งให้ได้ลดหย่อนเงินเดือน ภายในวันเดียวกันนั้นเลย (ใช้เวลาในการพิจารณาอนุมัติ ประมาณครึ่งวันทำการ)
เมื่ออนุมัติเสร็จแล้ว ลูกหนี้ก็ถือเอาเอกสารคำสั่งอนุมัติให้ลดหย่อนอายัดเงินเดือนฉบับใหม่นี้ มายื่นให้กับฝ่ายบุคคล , ผ่ายบัญชี หรือตามต้นสังกัดของตัวลูกหนี้ที่ทำงานอยู่ต่อไป
.

.
อนณสุข ปรมาลาภา

ความไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ
ไฟล์ที่แนบมาด้วย:
สมาชิกต่อไปนี้บอกขอบคุณ: Nok2865

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

11 ปี 3 เดือน ที่ผ่านมา - 8 ปี 5 วัน ที่ผ่านมา #28154 โดย jackTs
ถาม : อยากทราบว่าถ้าผมรับงานเป็น freelance แล้วเค้าจะยังตามมาอายัดเงินเดือนเราได้หรือเปล่าครับ?

ตอบ : การอายัดเงินเดือน หมายถึง “การอายัดรายได้ทั้งหมด ทุกๆรายรับที่ลูกหนี้ได้รับจากนายจ้างในแต่ละเดือน โดยรายได้นั้นๆ ต้องถูกนำไปหักภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ตาม ภงด.91”...ทั้งนี้ รายได้รวมทั้งหมดที่ต้องถูกนำไปหักภาษี หากรวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ก็ไม่สามารถอายัดได้...แต่ถ้ารายได้รวมทั้งหมดที่ต้องถูกนำไปหักภาษี เกินกว่าหนึ่งหมื่นบาท ก็ต้องโดนอายัด 30% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีนั้นๆ

ส่วนรายได้หรือรายรับใดๆอันเป็นค่าจ้างอื่นๆ ที่มิใช่รายได้ประจำ แต่ได้มาจากการว่าจ้างของนายจ้างหรือผู้ว่าจ้าง...จะถูกจัดว่าเป็น ค่าจ้างรับเหมาดำเนินการ เช่น ค่าจ้างรับเหมาถมดิน , ค่าจ้างรับเหมาตกแต่งสวนหย่อม , ค่าจ้างรับเหมาทำรั้วบ้าน , ค่าว่าจ้างทนายความ , ค่าจ้างในการรักษาพยาบาลของแพทย์ตามคลีนิคต่างๆ , ค่าจ้างในการบริการตัดผม(ช่างตัดผม) , ค่าจ้างในการตัดชุดเจ้าสาว(ช่างตัดเสื้อ)...ฯลฯ...ดังนี้ เป็นต้น

รายได้หรือรายรับจำพวกนี้ จัดเป็นรายรับประเภท “ว่าจ้างรับเหมา” ทั้งสิ้น(ไม่ว่าจะเป็นการว่าจ้างรับเหมาในการทำสินค้า หรือขายบริการทางวิชาชีพ ก็ตาม)...โดยผู้ที่มีรายรับหรือรายได้ดังกล่าว หากมีความประสงค์จะไปยื่นแบบเสียภาษีให้ถูกต้อง จะต้องไปยื่นแบบเพื่อเสียภาษีประเภท ภาษีรายได้ส่วนบุคคล ตาม ภงด.90 หรือ ภงด.94...ซึ่งเป็นรายได้ที่มิใช่เงินเดือน จึงไม่สามารถทำการอายัด 30% ได้ตามหลักการปกติ

แต่ถ้าหากเจ้าหนี้(โจทก์) สืบทราบได้ว่า จำเลยมีทรัพย์สิน(รายได้ที่มาจากการทำงาน"ว่าจ้างรับเหมา" โดยการรับเป็นเงินโอนผ่านบัญชีธนาคารของเจ้าหนี้ โจทก์ก็สามารถยื่นหลักฐานของบัญชีธนาคารนั้นๆ ให้ทาง จพค.(เจ้าพนักงานบังคับคดี สังกัดกรมบังคับคดี) ทำการอายัดทั้งบัญชีได้เลย หรือเรียกได้ว่าอายัดเงินในบัญชีดังกล่าวทั้งหมด 100%

ด้วยเหตุนี้ ถ้ารายได้ของจำเลยที่ได้มาจาก"การจ้างรับเหมา" หากลูกหนี้สามารถรับเป็นเงินสดได้ ก็จะปลอดภัยที่สุด หรือถ้าหากไม่สามารถรับเป็นเงินสดได้ ก็ควรรับเป็นเงินโอนผ่านบัญชีของธนาคารที่เราไม่ได้เป็นหนี้กับมันด้วย ก็จะปลอดภัยกว่า

ดังนั้น คุณต้องย้อนกลับไปดูว่า รายรับของคุณที่ได้มาจากการทำงานเป็น Freelance นั้น...ถูกนายจ้าง(หรือผู้ว่าจ้าง)หักภาษีของคุณตาม ภงด.91 หรือไม่?

- ถ้ารายรับจากการทำ Freelance ของคุณ ไม่ถูกหักภาษีเลย...หรือถูกหัก แต่เป็นภาษีประเภท ภงด.90/ภงด.94 (ถูกหักภาษี ณ.ที่จ่าย ตั้งแต่ 3% ขึ้นไป)...ก็ไม่โดน

- แต่ถ้าคุณถูกหักให้เป็นภาษีประเภท ภงด.91(ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับมนุษย์เงินเดือน)...ก็ไม่รอด

มันก็เท่านั้นเอง

.
อนณสุข ปรมาลาภา

ความไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ
สมาชิกต่อไปนี้บอกขอบคุณ: Nok2865

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

11 ปี 1 สัปดาห์ ที่ผ่านมา - 8 ปี 11 เดือน ที่ผ่านมา #32790 โดย jackTs
.
บทสรุปส่งท้าย

ตามข้อกฏหมายแล้ว...การอายัดเงินเดือนสามารถทำได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายรับรวมทั้งหมดของจำเลย(ลูกหนี้)ในแต่ละเดือน

และถ้าหากจำเลยมีรายรับต่อเดือนที่ไม่สูงมากนัก จำเลยสามารถไปขอทำเรื่องขอลดหย่อนการอายัดดังกล่าว โดยไปเขียนคำร้องที่กรมบังคับคดี ให้ลดลงมาเหลือเพียง 15% ได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการดำรงชีวิตในแต่ละเดือนของจำเลย

แต่...

ตามข้อกฏหมายที่ถูกต้อง จำเลยจะไม่สามารถไปร้องขอที่กรมบังคับคดี ให้ทำการลดหย่อนการอายัดเงินประเภทอื่นๆ ที่มิใช่เงินเดือนได้เลย...อาทิเช่น

- เงินตอบแทนจากการออกจากงาน (เงินค่าชดเชยที่บริษัทนายจ้างจ่ายให้ โดยการเชิญให้ลูกจ้างออกจากงานโดยที่ไม่มีความผิด หรือที่ภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่า"เงินจ้างออก") เงินจำนวนนี้จะต้องโดนอายัด"ทั้งหมด"(100%)...ขอลดอายัดไม่ได้

- เงินโบนัส (เงินปันผลกำไรจากบริษนายจ้าง ซึ่งนานๆจะจ่ายให้สักครั้ง) เงินจำนวนนี้จะต้องโดนอายัด"ครึ่งหนึ่ง"(50%)...ขอลดอายัดไม่ได้

แต่ถ้าหากมีการจ่ายเงินปันผลกำไรจากบริษัทนายจ้าง(Bonus) โดยการจ่ายให้กับลูกจ้างเป็นประจำทุกๆเดือน หรือที่เรียกว่า Profit sharing รายเดือน ในกรณีนี้จะเข้าข่ายลักษณะเสมือนกับเป็นการจ่ายค่า"คอมมิชชั่น"...ก็จะสามารถทำการขอลดหย่อนได้ เพราะถือว่าเป็นรายรับประจำเดือนเช่นกัน

..........................................................................................................................

อนึ่ง...หากจำเลย(ลูกหนี้)ได้รับการลดหย่อนการอายัดเงินเดือนจากกรมบังคับคดี ให้ลดลงมาเลือเพียง 15% ได้แล้ว แต่ถ้าจำเลยยังไม่พอใจต่อการลดหย่อนดังกล่าว(15%)อีก จำเลยสามารถไปเขียนคำร้องยื่นต่อศาลแพ่ง ให้พิจารณาการลดหย่อนจาก 15% ลงมาได้อีก

แต่กระบวนการดังกล่าว ศาลอาจให้การพิจารณาในความเห็นต่อคำร้อง โดยอาจไม่ให้มีการลดหย่อนเพิ่มเติมตามที่ร้องมาก็ได้ หรืออาจพิจารณาให้การลดหย่อนลงมาได้อีกก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น(เช่นลดลงมาอีก 5% เหลือการอายัดเพียง 10% ก็เป็นไปได้)
ทั้งนี้...อาจรวมไปถึงรายรับอื่นๆด้วย เช่นการขอลดอายัด โบนัส และรายรับอื่นๆที่จำเลยได้ยิ่นคำร้องขอแนบไปด้วย ศาลอาจจะพิจารณาให้ลดหรือไม่ลดให้เลยก็ได้เช่นกัน

ดังนั้น ทางชมรมฯจึงไม่แนะนำการร้องขอต่อศาลในกรณีเช่นนี้ หากจำเลยได้รับการลดหย่อนสูงสุดตามกฏหมายจากทางกรมบังคับคดี(ได้รับการลดหย่อนถึง 15%)แล้ว เพราะการร้องขอดังกล่าวต่อศาล อาจทำให้จำเลยต้องเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายไปฟรีๆ แต่กลับไม่ได้รับการลดหย่อนใดๆจากศาลเลย


ยกเว้น...จำเลยจะมีเหตุสุดวิสัยต่อชีวิต หากไม่ได้รับการลดหย่อนเพิ่มอีก เช่น จำเลยเป็นโรคร้ายแรง และจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากในการรักษาโรคดังกล่าว ถ้าหากจำเลยไม่ได้รับการลดหย่อนเพิ่ม(จาก 15%) จำเลยอาจต้องเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ(ตายหรือพิการ) โดยมีเอกสารทางการแพทย์ยืนยัน...เหตุดังกล่าวจึงอาจเข้าข่ายให้ศาลรับพิจารณาเห็นใจ ให้เพิ่มการลดหย่อนตามที่ร้องขอมาได้
.

.
อนณสุข ปรมาลาภา

ความไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ
สมาชิกต่อไปนี้บอกขอบคุณ: ntps

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

9 ปี 6 เดือน ที่ผ่านมา - 8 ปี 5 วัน ที่ผ่านมา #57174 โดย jackTs

ถาม : ถ้าเรามีเงินเดือน 15,000 บาท แต่ทุกวันนี้ ต้องถูกสหกรณ์ของบริษัทหักค่าผ่อนหนี้ของสหกรณ์อยู่เดือนละ 7,000 บาท เหลือเดือนจริงๆแค่ 8,000 บาท ยังงี้แสดงว่าเรามีเงินเดือนเหลือไม่ถึงหมื่นบาท ก็แสดงว่าไม่ถูกอายัดเงินเดือนไช่ไหม?


ในอดีต...ผมเคยตอบไปในกระทู้เก่าว่า

การอายัติเงินเดือน จะคิดจาก "รายได้รวมทั้งหมด" ของในแต่ละเดือน เป็นจำนวน 30% จากรายได้ ณ.เดือนนั้นๆทันที โดยให้หัก 30% ก่อนทำการหักค่าใดๆ...เช่น ก่อนหักภาษี , ก่อนหักประกันสังคม , ก่อนหักค่าใช้จ่ายใดๆ... แต่ว่า เมื่อหักเงิน 30% นี้ไปแล้ว จะต้องเหลือเงินให้ลูกหนี้ไว้ใช้ยังชีพไม่น้อยกว่า 10,000.-บาท...โดยไม่สนใจว่าเงินที่เหลือจำนวนนี้ ลูกหนี้จะต้องนำไปจ่ายเป็น ค่าผ่อนรถ , ค่าผ่อนบ้าน , ผ่อนค่าเบี้ยประกันชีวิต , ผ่อนฯลฯ (หรือแม้กระทั่งผ่อนหนี้ให้กับใครก็ตาม) ไม่สนทั้งสิ้น
เพราะในทางปฏิบัตินั้น เขามองว่า ไอ้เงินจำนวน 10,000.-บาท ที่ทางกฏหมายเขาอุตส่าห์ออกไว้เป็น"กฏ"เผื่อให้ลูกหนี้ โดยเงินจำนวนนี้ เขากันไว้เพื่อให้ลูกหนี้มีเงินไว้ใช้ให้เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต (ซื้อข้าวปลาอาหารกินประทังชีวิต)ในแต่ละเดือน เท่านั้น...ไม่ใช่มีไว้เพื่อให้ลูกหนี้เอาเงินจำนวนนี้ไป ผ่อนบ้าน , ผ่อนรถ , ผ่อนสินค้า , ผ่อนค่าบริการ , ผ่อนทรัพย์สิน , ผ่อนหนี้สหกรณ์ , ผ่อนหนี้นอกระบบ หรือ ผ่อนหนี้ใดๆ

สรุปง่ายๆก็คือ เงินจำนวน 10,000.-บาทนี้ เขา"กัน"เอาไว้...เพื่อให้ลูกหนี้เอาไว้ใช้สำหรับ ซื้อข้าวปลาอาหารกิน"กันอดตาย"...ไม่ใช่"กัน"เงินไว้ เพื่อเอาไปใช้หนี้ให้กับใคร
.

.
อนณสุข ปรมาลาภา

ความไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

6 ปี 6 เดือน ที่ผ่านมา - 6 ปี 6 เดือน ที่ผ่านมา #96385 โดย jackTs
.
แจ้งเพื่อทราบ : ข่าวอายัดเงินเดือนตามกฏหมายฉบับใหม่ล่าสุด

ลูกหนี้เงินเดือนไม่เกิน2หมื่นอายัดเงินเดือนไม่ได้
debtclub.consumerthai.org/index.php?option=com_kunena&view=topic&catid=5&id=45370&Itemid=64#95615


แต่...กฎหมายฉบับใหม่นี้ ให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4/ กันยายน / 2560 เป็นต้นไป

ดังนั้น เมื่อหลังจากผ่านวันที่ 4/ก.ย./60 ผ่านไปแล้ว...ผมจะทำการ Update แก้ไขข้อกฏหมายที่อยู่ในด้านบนของกระทู้นี้ทั้งหมด ให้เป็นไปคามข้อกฎหมายฉบับใหม่ต่อไปอีกครั้งนะครับ

.
อนณสุข ปรมาลาภา

ความไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

ผู้ดูแล: Badmankonsiam
เวลาที่ใช้ในการสร้างหน้าเว็บ: 0.772 วินาที
ขับเคลื่อนโดย ระบบฟอรัม Kunena