อายุความในการฟ้องร้อง คดีแพ่ง (หนี้เงิน)

12 ปี 2 เดือน ที่ผ่านมา - 6 ปี 6 เดือน ที่ผ่านมา #813 โดย jackTs
.
อายุความฟ้องร้อง ในคดีแพ่ง (หนี้เงิน)

อายุความในการฟ้องสำหรับ "หนี้" ที่ผิดนัดชำระ...ให้นับจาก
วันที่ผิดนัดชำระครั้งสุดท้าย...จนถึงวันที่ฟ้องคดี

สำหรับอายุความของหนี้สินประเภทต่างๆ...เท่าที่ผมได้เคยสอบถามกับ
ผู้รู้ทางกฏหมาย...ได้ความมาตามนี้ครับ


- หนี้บัตรเครดิต...อายุความในการฟ้อง หลังจากมีการผิดนัดชำระตามสัญญา = 2 ปี

- หนี้วงเงินเบิกเกินบัญชี...อายุความในการฟ้อง หลังจากมีการผิดนัดชำระตามสัญญา = 10 ปี

- หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล รวมทั้งบัตรกดเงินสด...อายุความ = 5 ปี (สัญญากู้ยืมที่มีการผ่อนต้นคืนพร้อมดอกเบี้ยเป็นงวดๆ)

- หนี้เงินกู้...อายุความ = 10 ปี (สัญญากู้ยืมที่กำหนดชำระเงินต้นคืนทั้งหมดในครั้งเดียว)

- หนี้ที่เกิดจาก สัญญาเช่าซื้อ...อายุความในการฟ้อง หลังจากมีการผิดนัดชำระตามสัญญา = 2 ปี


ที่ผ่านมาส่วนใหญ่...พวกเรามักจะเข้าใจกันว่า
ให้นับจากวันที่จ่ายค่างวดเป็นครั้งสุดท้าย...จนถึงวันที่ฟ้อง
ซึ่งเป็นการเข้าใจที่ ผิด ครับ

อย่าลืมนะครับ ภาษาของกฏหมายเขียนเอาไว้ว่า

ให้นับจากวันที่ผิดนัดชำระครั้งสุดท้าย จนถึงวันที่ฟ้อง

ทีนี้เรามาตีความกันสักหน่อยนะครับ
คำว่า วันที่ผิดนัดชำระครั้งสุดท้าย ไม่ได้หมายถึงวันที่จ่ายชำระเงินเป็นครั้งสุดท้ายนะครับ
เพราะการที่เราจ่ายเงินไปในครั้งสุดท้ายนั้น...เรายังไม่ได้ผิดสัญญา ดังนั้น อายุความก็จะยังไม่เริ่มนับ

ความหมายของคำว่า “ผิดนัดชำระสัญญา” ก็คือ...เมื่อถึงวันที่เราจะต้องจ่ายคืนเงินกู้ตามสัญญาที่ได้ระบุไว้ แต่เรากลับมิได้จ่ายตามวันที่ได้กำหนดไว้สัญญา...นั่นแหละ...จึงจะถือได้ว่า “เริ่มผิดนัดชำระตามสัญญา”

ขออนุญาตสมมุติตัวอย่างให้ดูสักกรณีหนึ่งนะครับ จะได้เข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
นาย ก. ได้ไปทำการกู้สินเชื่อบุคคลจาก ธนาคาร A มาเป็นจำนวนเงิน XX,XXX บาท ซึ่งกำหนดให้ผ่อนจ่ายคืนทั้งหมด 24 งวดๆละ 1,000.-บาท โดยต้องผ่อนจ่ายคืนไม่เกินวันที่ 8 ของทุกๆเดือน
นาย ก. ได้รับเงินกู้มาแล้ว ในวันที่ 9/ก.ค./ 2550...ซึ่งหลังจากนั้น นาย ก. ได้ผ่อนจ่ายชำระเงินคืนไปแล้ว
เป็นบางงวด ดังนี้
งวดที่1_____จ่าย 1,000.-บาท_____วันที่จ่าย 8/ส.ค./2550
งวดที่2_____จ่าย 1,000.-บาท_____วันที่จ่าย 7/ก.ย./2550
งวดที่3_____จ่าย 1,000.-บาท_____วันที่จ่าย 6/ต.ค./2550
งวดที่4_____จ่าย 1,000.-บาท_____วันที่จ่าย 7/พ.ย./2550
งวดที่5_____ซึ่ง นาย ก. ควรจะต้องจ่ายค่าผ่อนชำระ 1,000.-บาท ไม่เกินวันที่ 8/ธ.ค./2550 ตามสัญญา แต่ นาย ก. เริ่มประสพปัญหาเรื่องเงินหมุน (ไม่มีเงินจ่าย) จึงเริ่มหยุดจ่าย...นับตั้งแต่วันที่ 8/ธ.ค./2550 เป็นต้นมา...จนถึงปัจจุบัน

วันที่ 8/ธ.ค./2550 นี่แหละครับ ที่ถือว่า นาย ก. ได้เริ่มผิดนัดชำระตามสัญญา
(เพราะถึงกำหนดวันที่ต้องจ่ายแล้ว...แต่ไม่ยอมจ่าย)

ส่วนจะไปอ้างว่า วันที่ 7/พ.ย./2550 เป็นวันที่ นาย ก. ได้เริ่ม “ผิดนัดชำระตามสัญญา” เพราะว่าเป็น “การจ่ายชำระเงินเป็นครั้งสุดท้าย” มิได้...เพราะถือได้ว่า นาย ก. ยังมีการจ่ายชำระเงินในวันที่ 7/พ.ย./2550 ตามสัญญาอยู่ จึงไม่ได้เป็นการผิดนัดตามสัญญาแต่อย่างใด จนกว่าจะถึงรอบบิลในการชำระเงินครั้งต่อไป
ที่ผมหยิบยกเอาประเด็นนี้ขึ้นมาเสริม เพราะเกรงว่าอาจส่งผลต่อการสู้ต่อคดีของลูกหนี้บางท่าน ที่ยังไม่เข้าใจในการตีความของกฏหมาย

เช่น...ถ้าลูกหนี้ถูกฟ้องเรื่อง “หนี้บัตรเครดิต” (ซึ่งมีอายุความ 2 ปีโดยนับจากวันที่ผิดนัดชำระ)...แต่ตัวลูกหนี้ได้หยุดจ่ายมาเป็นเวลา 24 เดือน (2 ปี) พอดี โดยที่ตัวลูกหนี้เอง ใช้วิธีคิดคำนวนระยะเวลา จากวันที่เริ่มจ่ายเงินเป็นครั้งสุดท้ายจนถึงวันที่ฟ้อง และได้อ้างข้อมูลดังกล่าวนี้ต่อศาลว่า “คดีขาดอายุความ” ไปแล้ว เพื่อที่จะให้ศาล “ยกฟ้อง” ให้
แต่ถ้าทนายฝ่ายโจทก์กล่าวแย้งว่า “ยังไม่ขาดอายุความ” ตามเหตุผลที่ผมได้อธิบายเหตุผลไปแล้วในด้านบน...จะทำให้คดีที่ถูกฟ้องร้องต่อศาลนี้ มีระยะเวลาในการ“ผิดนัดชำระสัญญา” เพียงแค่ 23 เดือน (1 ปี กับอีก 11 เดือน) เท่านั้น...
คดีนี้จึงไม่ขาดอายุความ และอาจส่งผลให้ลูกหนี้ถูกตัดสิน “แพ้คดี” เนื่องจากการสู้ความ "ผิดประเด็น" ก็เป็นได้
ดังนั้น สำหรับเพื่อนสมาชิกที่จะใช้ “เงื่อนไขของ การผิดนัดชำระตามสัญญา” สำหรับต่อสู้คดีในเรื่อง “ขาดอายุความ” ให้พิจารณาถึงส่วนนี้ด้วยนะครับ

คำว่า คดีขาดอายุความ มีความหมายว่า "ไม่สามารถเอาผิดได้ตามกฏหมายที่บัญญัติไว้"...แต่ไม่ได้หมายความว่า ฟ้องไม่ได้ หรือห้ามฟ้อง นะครับ...กล่าวคือถ้าอยากจะฟ้องก็ฟ้องไป แต่ฟ้องแล้วก็ไม่สามารถเอาผิดกับจำเลยได้

ที่สำคัญที่สุด...ถ้าคุณถูกฟ้องแล้ว และคุณมั่นใจว่าคดีนี้ขาดอายุความแน่ๆ...แต่คุณไม่ยอมไปศาลเพื่อต่อสู้คดีว่า คำฟ้องขาดอายุความตามกฏหมาย คุณจะถูกพิพากษาให้มีความผิด และต้องชดใช้หนี้ตามมูลฟ้องทันที ถึงแม้ว่าคดีจะขาดอายุความไปแล้วก็ตาม (การที่คุณไม่ยอมขึ้นไปศาล ท่านจะพิจารณาว่า คุณหนีศาล...ดังนั้นศาลท่านจะไม่ช่วยเหลือคุณใดๆทั้งสิ้น)

ถ้าเจ้าหนี้มันรู้ว่า...คุณเองก็พอมีความรู้ในเรื่อง "คดีขาดอายุความ" และหนี้ของมันที่มีอยู่กับคุณ ได้ขาดอายุความในการฟ้องไปแล้ว...มันอาจจะไม่ฟ้องคุณก็ได้ เนื่องจากต้องเสียเงินและเสียเวลาในการฟ้องไปเปล่าๆ...แต่มันจะใช้วิธีในการทวงหนี้ไปเรื่อยๆแทน เพราะกฏหมายไม่ได้ระบุไว้นี่ครับว่า ถ้าไม่ฟ้อง...แล้วห้ามทวงหนี้โดยเด็ดขาด หรือทวงไม่ได้

ดังนั้น...สถาบันการเงินซึ่งเป็นเจ้าหนี้ จะต้องใช้สิทธิฟ้องร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ภายในกำหนดเวลาตามที่กฏหมายระบุไว้ นับตั้งแต่ลูกหนี้ “ผิดนัดชำระหนี้” กับเจ้าหนี้เป็นครั้งสุดท้าย ถ้าหากเจ้าหนี้ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้อง หรือฟ้องร้องภายในระยะเวลาตามที่กฏหมายกำหนด คดีก็เป็นอันขาดอายุความหรือหมดสิทธิเรียกร้อง ลูกหนี้ก็พ้นความรับผิด ไม่ต้องชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ เพราะถึงแม้เจ้าหนี้จะดันทุรังฟ้องร้องลูกหนี้ แต่เมื่อลูกหนี้ยกข้อต่อสู้ว่าคดีหมดอายุความแล้ว ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องให้อยู่ดี

ที่สำคัญอย่าลืมว่า ถึงแม้คดีจะขาดอายุความไปแล้วก็ตาม แต่ถ้าเจ้าหนี้มันดันยื่นฟ้องมา แล้วลูกหนี้ไม่ยื่นคำให้การ ในการต่อสู้คดี…ลูกหนี้จะเป็นผู้ “แพ้คดี” ทันที...ดังนั้นเมื่อลูกหนี้ยื่นคำให้การต่อสู้คดี ลูกหนี้จะต้องต่อสู้คดีในประเด็นที่ว่า คดีของโจทก์ “ได้ขาดอายุความไปแล้ว” มิฉะนั้นศาลก็ไม่อาจหยิบยกเรื่องคดีขาดอายุความ ขึ้นมาเป็นเหตุให้ยกฟ้องของโจทก์ได้ (ตามมาตรา 193 / 29 )

มีตัวอย่างมากมาย ที่แม้เจ้าหนี้จะรู้ว่าคดีขาดอายุความไปแล้ว แต่เจ้าหนี้ก็ยังเสือกให้ทนายความ ยื่นฟ้องลูกหนี้อีก โดยหวังว่าถ้าฟลุ๊คๆขึ้นมา ไปเจอเอาลูกหนี้ที่ไม่รู้เรื่อง ไม่ใส่ใจที่จะต่อสู้คดี เพราะรับรู้ว่าตนเองเป็นหนี้เขาจริงๆ แต่หารู้ไม่ว่าคดีขาดอายุความแล้ว จึงไม่ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่าขาดอายุความแต่อย่างใด นั่นนับว่าเป็นคราวเฮงของเจ้าหนี้ และเป็นคราวซวยของลูกหนี้ ศาลก็จะต้องพิพากษาตามพยานหลักฐานให้เจ้าหนี้ชนะคดีไป และลูกหนี้ก็ต้องรับผิดชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลต่อไป






สรุปให้ชัดๆก็คือ

ลูกหนี้ส่วนมากจะเข้าใจว่า เมื่อขาดอายุความแล้วเจ้าหนี้ฟ้องไม่ได้ก็จบกันแค่นั้น หรือถ้าฟ้อง ศาลก็คงจะไม่รับคำฟ้องเพราะขาดอายุความ แต่ความจริงกลับไม่เป็นอย่างที่ทุกคนเข้าใจ เพราะถึงจะขาดอายุความไปแล้ว แต่ทางฝ่ายเจ้าหนี้ก็สามารถยื่นฟ้องได้ โดยศาลก็จะดำเนินการไปตามกระบวนการของกฎหมายตามขั้นตอนต่างๆต่อไป

การที่จะให้ศาลหยิบยกเอาเรื่อง การขาดอายุความขึ้นมาพิจารณานั้น ลูกหนี้จะต้องยื่นคำให้การต่อสู้คดีในเรื่องของการขาดอายุความ ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาล ซึ่งศาลก็จะนำมาพิจารณาตรวจสอบดูข้อเท็จจริง และถ้าหากเป็นจริงตามที่ลูกหนี้ยื่นคำให้การต่อสู้มา ทางศาลก็จะทำการ"ยกฟ้อง"ต่อเจ้าหนี้ต่อไป

ซึ่งในเรื่องนี้ได้มีกฎหมายรองรับอยู่ตามมาตรา 193/29 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้


หมายเหตุ : คำว่า"ยกฟ้อง"หมายถึง

พิพากษาให้คดีตกไป โดยไม่บังคับให้เป็นไปตามคําฟ้องของโจทก์



บัตรเครดิต อายุความกี่ปี? ฎีกาชาวบ้าน

.
อนณสุข ปรมาลาภา

ความไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ
ไฟล์ที่แนบมาด้วย:
สมาชิกต่อไปนี้บอกขอบคุณ: Mommyangel, Skynine, AOF9888

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

12 ปี 2 เดือน ที่ผ่านมา - 4 ปี 11 เดือน ที่ผ่านมา #1298 โดย 0834368962
.
เสริมเพิ่มเติม...เรื่องการฟ้องลูกหนี้ที่เสียชีวิต
โดยพี่นกกระจอกเทศ ที่เคยโพสต์ไว้เมื่อ 10 ส.ค. 2011, 9:22
(หากลูกหนี้ตาย เจ้าหนี้จะต้องฟ้องร้องอย่างไร?)

อายุความในการฟ้องคดีนั้นถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ที่ทุกคนจะต้องรู้ เพราะหากพ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายที่โจทก์มีสิทธิจะฟ้องคดีแล้ว หากนำมูลคดีนั้นไปยื่นฟ้องต่อศาล เมื่อจำเลยยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความฟ้องคดีขึ้นต่อสู้ และตามพยานหลักฐานฟังได้ว่าคดีนั้นขาดอายุความฟ้องร้องแล้ว ศาลก็จะพิพากษายกฟ้อง เป็นเหตุให้ลูกหนี้หรือทายาทของลูกหนี้หลุดพ้นจากภาระหนี้สินนั้นไปได้

ในกรณีที่ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดอายุความในการฟ้องร้องคดีไว้ ใน มาตรา ๑๗๕๔ วรรค ๓ ว่า

“ภายใต้บังคับแห่ง มาตรา ๑๙๓/๒๗ แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่ง ปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อนนั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย”


ดังนั้นจากตัวบทกฎหมายข้างต้น จึงอธิบายให้เข้าใจง่ายๆได้ว่า เมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตายไปแล้ว เจ้าหนี้จะต้องเรียกร้อง หรือฟ้องร้องให้ชำระหนี้จากทรัพย์มรดกของลูกหนี้ผู้ตาย ภายในกำหนด ๑ ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้ได้รู้ว่าลูกหนี้ถึงแก่ความตาย (หรือควรจะรู้ว่าลูกหนี้ได้ตายไปแล้ว จากการติดตามทวงถามหนี้) มิฉะนั้น คดีจะขาดอายุความฟ้องร้อง

การฟ้องคดีนั้น ถามว่าเมื่อลูกหนี้ตายแล้ว เราจะฟ้องใคร คำตอบก็คือ ต้องฟ้องทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของลูกหนี้ หรือผู้จัดการมรดกของลูกหนี้เป็นจำเลย ส่วนในการรับผิดชอบในหนี้ สินลูกหนี้ต่อเจ้าหนี้ ทายาทหรือผู้จัดการมรดกที่ถูกฟ้องคดี จะต้องรับผิดชอบเพียงแต่ทรัพย์สินในกองมรดกที่ตนมีสิทธิได้รับเท่านั้น

เพื่อให้สมาชิกอ่านเข้าใจยิ่งขึ้น ผมจะขอยกเอาคำพิพากษาฎีกาบางเรื่อง ที่เคยตัดสินคดีเกี่ยวกับเรื่องที่ผมได้กล่าวมาข้างต้น ให้ท่านได้อ่านกันนะครับ

ฎีกาที่ ๒๐๙๑/๒๕๑๔ เจ้าหนี้มิได้ฟ้องทายาทของลูกหนี้ภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้ทราบถึงการตายของลูกหนี้ หนี้จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๗๕๔ วรรค ๓ ผู้ค้ำประกันย่อมยกอายุความขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ ตาม มาตรา ๖๙๔

ฎีกาที่ ๑๓๔๓/๒๕๒๐ หนี้ถึงกำหนดและค้างชำระแล้ว ผู้ค้ำประกันตาย ทายาทต้องรับผิดไม่เกินมรดกที่ตกทอดมา อายุความฟ้องทายาท ๑ ปี ตามมาตรา ๑๗๕๔ นับแต่เจ้าหนี้รู้ว่าผู้ค้ำประกันตาย

ฎีกาที่ ๓๙๙๔/๒๕๔๐ แม้หนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่ ลูกหนี้ทำไว้กับโจทก์ ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แต่ลูกหนี้ได้ถึงแก่ความตายไปก่อน โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ภายใน ๑ ปี นับแต่โจทก์รู้ถึงความตายของลูกหนี้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๗๕๔ วรรค ๓ เพราะสิทธิเรียกร้องของจทก์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตาย หากรอจนหนี้ถึงกำหนดชำระ อายุความ ๑ ปี อาจจะล่วงพ้นไปแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องทายาทของลูกหนี้ เพื่อบังคับให้ชำระหนี้ได้ แม้หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ

ในทางกฎหมาย เกี่ยวกับเรื่องอายุความฟ้องร้องคดีนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่หากโจทก์นำมูลหนี้ที่ขาดอายุความแล้วมาฟ้องร้อง หากฝ่ายจำเลยไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างเอา"อายุความ"มาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้

ข้อยกเว้นให้เจ้าหนี้ฟ้องเกิน ๑ ปีได้

ดังที่บัญญัติไว้ใน ปปพ. มาตรา ๑๗๕๔ วรรค ๓ “ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๒๗ ” ซึ่งมาตรา ๑๙๓/๒๗ บัญญัติว่า “ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระค่าดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปนั้นไม่ได้” ดังนั้น เจ้าหนี้ตามมาตราดังกล่าว จึงสามารถบังคับชำระหนี้จากทรัพย์ที่จำนอง จำนำ หรือมีสิทธิยึดหน่วง อันเป็นมรดกนั้นได้ แม้ล่วงพ้นอายุความฟ้องคดีมรดกแล้วก็ตาม

อีกกรณีหนึ่งที่เจ้าหนี้ฟ้องเกิน ๑ ปีได้ ก็คือ ในกรณีที่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกไปรับสภาพหนี้ภายในอายุความมรดก จึงทำให้อายุความสะดุดลง โดยระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้น ไม่นับเข้าอยู่ในอายุความ อายุความสะดุดหยุดลงเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น เจ้าหนี้จึงฟ้องบังคับชำระหนี้จากกองมรดกได้ แม้ล่วงพ้นอายุความมรดก

ส่วนคดีที่เจ้ามรดกเป็นเจ้าหนี้ มิได้กำหนดอายุความไว้เป็นพิเศษแต่อย่างใด จึงต้องใช้อายุความเฉพาะแต่เกี่ยวกับมูลหนี้ที่จะฟ้อง ดังนั้นเจ้าหนี้จึงสามารถฟ้องลูกหนี้ได้ แม้เจ้ามรดกตายเกินหนึ่งปีแล้วก็ตาม

กรรมการชมรมไม่ใช้เทวดา
ชี้ได้แต่เส้นทาง สมาชิกต้องกระทำเอง

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

12 ปี 2 เดือน ที่ผ่านมา - 12 ปี 2 สัปดาห์ ที่ผ่านมา #1300 โดย 0834368962
.
ตัวอย่าง : เรื่อง จำนองไม่ระงับด้วยเหตุหนี้ประธานหมดอายุความ

“เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอ” คำพังเพยที่กล่าวสืบต่อกันมานานแล้ว ท่านผู้อ่านคงยังจำกันได้นะครับ เอาไว้เตือนสติผู้คนโดยเฉพาะผู้ที่กำลังจะเข้าทำสัญญาค้ำประกันให้กับผู้หนึ่งผู้ใด ว่าไปแล้ว เวลาจะเอาของใคร หรือจะไปค้ำประกันให้ใคร ทีแรกก็ไม่ค่อยจะได้คิดถึงกันหรอกครับ พอถูกฟ้องร้องแล้วจึงจะมาโอดครวญกันทีหลังเพื่อขอความเห็นใจ แต่ก็สายไปแล้วล่ะ เพราะตัวเองสมัครใจเข้าผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อที่จะชำระหนี้แทนลูกหนี้ ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ จึงต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันเหมือนเรื่องที่ผมกำลังจะเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ฟังในวันนี้

ครูก้านกล้วยกับครูก้านคอ เป็นสามีภริยากันครับ มีอาชีพรับราชการครูด้วยกันทั้งสองคน เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2540 ครูก้านคอสามีได้ไปทำสัญญาค้ำประกันหนี้เงินกู้ให้กับเพื่อนครูอีกคนหนึ่ง ที่ไปทำสัญญากู้เงินกับธนาคารแห่งหนึ่ง แถมครูก้านกล้วยภริยาก็เอาที่ดินไปจดจำนองเป็นประกันหนี้รายนี้ไว้อีกด้วย อย่างนี้เรียกว่า ทั้งค้ำประกันทั้งจำนองในหนี้รายเดียวกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2546 เพื่อนครูที่เป็นลูกหนี้ที่ครูก้านคอและครูก้านกล้วยไปทำสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองไว้เกิดถึงแก่ความตายไปซะก่อนที่จะชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้เสร็จสิ้น ดังนั้น เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2549 ธนาคารผู้เสียหายจึงมาฟ้องครูก้านคอในฐานะผู้ค้ำประกันและสัญญาจำนอง ครูก้านกล้วยกับครูก้านคอสองสามีภริยาจึงนำเรื่องของตนเข้ามาปรึกษากับทนายที่รู้จักกัน

“เรื่องนี้คุณทนายพอจะหาทางเจรจาต่อรองหรือต่อสู้คดีกับธนาคารให้กับผมได้ไหมครับ ผมก็ไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้จะทำอย่างไร เนื้อก็ไม่ได้กิน หนังก็ไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอ ช่วยผมด้วยเถอะครับคุณทนาย”
“เรื่องของคุณครูนี้เป็นเรื่องหนี้กู้ยืม ซึ่งเป็นหนี้ประธาน มีอายุความในการใช้สิทธิฟ้องร้องกันได้ภายใน 10 ปีครับ ส่วนหนี้ค้ำประกันและจำนองเป็นหนี้อุปกรณ์ ที่ต้องถือเอาอายุความตามหนี้ประธานคือ 10 ปีด้วย ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30”
“แล้วคุณทนายดูเรื่องหนี้ของผมแล้วขาดอายุความหรือเปล่าครับ”
“สัญญาเงินกู้ทำกันเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2540 ครบกำหนดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2541 ดังนั้น เมื่อเจ้าหนี้นำหนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2549 นับจากวันครบกำหนดชำระ 1 มกราคม 2541 ถึงวันฟ้อง 1 มกราคม 2549 จึงเป็นการใช้สิทธิฟ้องร้องภายในอายุความ 10 ปี คดียังไม่หมดอายุความครับ”
“แล้วกรณีที่เพื่อนของผมที่เป็นผู้กู้เงินได้ตายไปแล้วจะมีผลใดๆ ทางกฎหมายยังไงแก่ทายาทไหมครับ”
“กรณีลูกหนี้ได้ถึงแก่ความตายนั้น หนี้สินของผู้ตายอันเป็นความรับผิดอย่างหนึ่งของเจ้ามรดก ถือว่าหนี้สินของผู้ตายเป็นมรดกอย่างหนึ่งที่ต้องตกทอดในกองมรดก ที่ทายาทผู้รับมรดกจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600 ซึ่งทายาทผู้รับมรดกไม่ต้องรับผิดในหนี้สินเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตนได้รับมา ตามมาตรา 1601 ครับ”
“อย่างนี้ธนาคารฟ้องทายาทให้รับผิดแล้วถ้ามีการบังคับชำระหนี้กับทายาทนั้นได้เท่ากับมรดกที่ทายาทได้รับมา ถ้ามีหนี้เหลืออยู่อีกอย่างนี้ทายาทคนนั้นไม่ต้องรับผิด เจ้าหนี้ยังสามารถมาบังคับหนี้ที่เหลือเอากับผู้ค้ำประกันอย่างผมนี้ได้อีกใช่ไหมครับ”
“ถูกต้องแล้วครับ และกรณีที่ลูกหนี้ตาย ธนาคารเจ้าหนี้ต้องใช้สิทธิฟ้องคดีภายในกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1754 วรรคสาม ไม่ใช่ใช้สิทธิตามมาตรา 193/30 นะครับ”
“ถ้าคดีนี้มีอายุความ 1 ปี อย่างที่คุณทนายบอก เพื่อนผมที่เป็นลูกหนี้เค้าได้ตายไปเมื่อ 1 มกราคม 2546 ธนาคารมาฟ้องเมื่อ 1 มกราคม 2549 อย่างนี้การใช้สิทธิฟ้องร้องของธนาคารก็หมดอายุความแล้วซิครับ”
“จะว่าใช่ก็ได้ ไม่ใช่ก็ได้ครับ …เรื่องลูกหนี้ตายอายุความใช้สิทธิเรียกร้องมีกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของลูกหนี้ตามมาตรา 1754 วรรคสาม ดังนั้น ถ้าเราจะมานับ 1 ปี นับแต่ลูกหนี้ตายนั้นไม่ได้นะครับ 1 ปี ต้องนับตั้งแต่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของลูกหนี้ อย่างกรณีของธนาคารโจทก์ที่ฟ้องเมื่อ 1 มกราคม 2549 แต่ลูกหนี้ได้ตายไปเมื่อ 1 มกราคม 2546 ถ้าดูแล้วเหมือนจะหมดอายุความ เพราะเกิน 1 ปีแล้ว แต่ไม่ใช่ครับ ต้องนับ 1 ปี นับแต่ที่เจ้าหนี้รู้หรือควรจะรู้ ดังนั้นธนาคารโจทก์ก็อาจจะอ้างว่าเพิ่งจะรู้ว่าลูกหนี้ตายให้อยู่ในอายุความ 1 ปีก็ได้ เรื่องนี้ก็ต้องมาพิสูจน์กันครับว่าเป็นอย่างไร และเรื่องอายุความนี้ ลูกหนี้ก็ต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับเจ้าหนี้ด้วยนะครับ ศาลไม่อาจจะยกขึ้นมาพิจารณาเป็นเหตุยกฟ้องได้ เนื่องจากอายุความไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลจึงไม่มีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นมาเองได้ ลูกหนี้จึงมีหน้าที่ต้องยกมาเป็นข้อต่อสู้ก่อน ศาลจึงจะพิจารณาให้ได้”
“ถ้าอย่างนั้นผมว่าธนาคารเค้ารู้มาเกิน 1 ปีแล้ว เพราะวันทำบุญเพื่อนผมที่เป็นลูกหนี้ ผมยังเห็นผู้จัดการธนาคารเค้ามาร่วมงานด้วยเลย มีหลักฐานเป็นบุคคล มีรูปถ่ายยืนยันได้ครับ”
“ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้ครับ แต่ว่า…?”
“แต่ว่าอะไรหรือครับคุณทนาย อย่างนี้ไม่น่าจะมีปัญหาแล้วไม่ใช่หรือครับ”
“ครูก้านคอผู้ค้ำประกันอาจหลุดพ้นความรับผิดเรื่องอายุความได้ แต่ครูก้านกล้วยผู้จำนองนี้ซิครับยังคงจะต้องรับผิดอยู่ เพราะว่า แม้ว่าสิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้จากสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่เจ้าหนี้ผู้รับจำนองยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองนั้นได้ ไม่ระงับไปด้วยตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/27 ประกอบกับมาตรา 744 (1) ที่บัญญัติว่า “อันจำนองย่อมระงับสิ้นไป เมื่อหนี้ที่ประกันระงับสิ้นไปด้วยเหตุประการอื่นใด มิใช่อายุความ
ดังนั้น แม้ว่าหนี้กู้ยืมเงินเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความไปแล้วด้วยเหตุดังกล่าว แต่จำนองจะยกเอาเหตุอายุความขึ้นต่อสู้เพื่อให้จำนองระงับไปด้วยจึงไม่ได้ ผู้จำนองจึงต้องรับผิดอยู่ และเจ้าหนี้ก็มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองนั้นได้”

“อย่างนี้ ผมเป็นผู้ค้ำประกันก็หลุดพ้นจากความรับผิด เพราะหนี้ขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1754 วรรคสาม แต่เพื่อนผมที่เป็นลูกหนี้ ก่อนตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินบางอย่างให้กับผมด้วย อย่างนี้ทำให้ผมก็หมดสิทธิที่จะได้รับมรดกตามพินัยกรรมใช่ไหมครับ”
“ถ้าคุณครูเป็นทายาทผู้รับพินัยกรรม มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายซึ่งเป็นลูกหนี้ธนาคารโจทก์ อย่างนี้ทรัพย์สินที่คุณครูได้มาก็ต้องนำไปใช้หนี้ให้กับเจ้ามรดกก่อนครับ เหลือเท่าไหร่จึงจะเป็นของคุณครู แต่ถ้าไม่พอใช้หนี้ให้ธนาคาร หนี้ส่วนที่เหลือที่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ได้รับมา คุณครูก้านคอก็ไม่ต้องรับผิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601 ครับ”


บทสรุป

เจ้าหนี้ฟ้องเรียกเอากับทรัพย์มรดกซึ่งรับจำนองไว้จากเจ้ามรดก แม้ว่าสิทธิเรียกร้องในหนี้ส่วนที่เป็นหนี้ประธานขาดอายุความแล้ว แต่เจ้ามรดกนำที่ดินมาจดทะเบียนจำนองไว้กับเจ้าหนี้ และเจ้าหนี้เรียกร้องเอากับทรัพย์มรดกอันเป็นทรัพย์ที่รับจำนองไว้ซึ่งเกิน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย ก็ไม่ต้องห้ามตามกฎหมายที่จะบังคับเอาได้เพราะถือว่าเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ

มาตรา 1754 ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี...มาตรา 193/27 ผู้รับจำนอง...ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้ จากทรัพย์สินที่จำนอง แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธาน จะขาดอายุความแล้วก็ตามแต่ จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้าง ย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้

กรรมการชมรมไม่ใช้เทวดา
ชี้ได้แต่เส้นทาง สมาชิกต้องกระทำเอง
สมาชิกต่อไปนี้บอกขอบคุณ: AOF9888

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

11 ปี 9 เดือน ที่ผ่านมา - 9 ปี 8 เดือน ที่ผ่านมา #13995 โดย jackTs
.
อายุความในคดีเช่าซื้อ

- ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ อายุความ 2 ปี
- ค่าเสียหายจากการที่ผู้เช่าซื้อใช้ทรัพย์สิน อายุความ 6 เดือน
- ค่าขาดราคา ค่าขาดประโยชน์ ค่าติดตาม เรียกให้ส่งคืนหรือใช้ราคาแทน อายุความ 10 ปี


อ่านแล้ว “งง” ไหมครับ?...งั้นผมขอแปลภาษากฏหมาย ให้เป็นภาษาชาวบ้านตามสไตล์ “ชาวยิ้มสู้หนี้” ให้ก็แล้วกัน

- ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ
กฎหมายว่าด้วยการเช่าซื้อ ไม่ได้บัญญัติเรื่องอายุความเอาไว้โดยตรง แต่ค่าเช่าซื้อก็เป็นค่าเช่าในการใช้ทรัพย์สินอย่างหนึ่ง ดังนั้น หากผู้เจ้าหนี้ซึ่งเป็นพ่อค้าฟ้องเรียกร้องเอาค่าเช่าซื้อสังหาริมทรัพย์(ทรัพย์สิน) ที่ค้างชำระอยู่ จึงต้องฟ้องภายในอายุความ 2 ปี…กล่าวคือ ศาลฎีฏาท่านมองว่า เงื่อนไขในระหว่างที่ผิดนัดชำระของ “การทำสัญญาเช่าซื้อ” ก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจากเงื่อนไขในระหว่างที่ผิดนัดชำระของ “การทำสัญญาเช่าสังหาริมทรัพย์” แบบธรรมดาทั่วไป...หากลูกหนี้ มีหนี้ค้างค่าเช่าสังหาริมทรัพย์กับเจ้าหนี้(ซึ่งมีอายุความ 2 ปี) ก็ให้นำเอา“อายุความ”เดียวกันนั้น มาใช้กับ “การทำสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ด้วย” เช่นกัน
กฏหมายในข้อนี้ พูดถึงเฉพาะ ค่าเช่าที่ยังค้างอยู่ (หรือเรียกว่า ค่าส่งงวดในอดีตที่มันผ่านมาแล้ว แต่ลูกหนี้ยังไม่ได้จ่าย) เท่านั้น


- ค่าเสียหายจากการที่ผู้เช่าซื้อใช้ทรัพย์สิน
ในความหมายนี้...หมายถึง การที่ลูกหนี้ไม่ยอมผ่อนจ่ายค่างวด จนถึงขั้นที่เจ้าหนี้บอกยกเลิกสัญญา และส่งคนมายึดทรัพย์สินกลับคืนไป
แต่เมื่อเจ้าหนี้ได้ทรัพย์สินกลับคืนมาแล้ว กลับพบว่าทรัพย์สินนั้นๆ มีความชำรุดเสียหาย และเมื่อนำเอาทรัพย์สินนั้นออกไปประมูลขายแล้ว ได้เป็นเงินกลับมาน้อยกว่ามูลค่าของทรัพย์สินที่พึงจะได้รับ(หรือเรียกว่าขายแล้วขาดทุน) เจ้าหนี้มีสิทธิ์ในการฟ้องลูกหนี้ ให้ชดใช้ค่าส่วนต่างที่ขาดทุนดังกล่าว โดยมีอายุความในการฟ้อง 6 เดือน โดยนับตั้งแต่วันที่ยึดทรัพย์สินกลับคืนมา
กฏหมายในข้อนี้ พูดถึงเฉพาะ ส่วนต่างที่ขาดทุน จากการขายของที่ยึดกลับมาได้ เท่านั้น


- ค่าขาดราคา ค่าขาดประโยชน์ ค่าติดตาม เรียกให้ส่งคืนหรือใช้ราคาแทน
ในความหมายนี้...หมายถึง ค่าใช้จ่ายใดๆที่เจ้าหนี้ต้องเสียเงินจ่ายเพิ่ม หรือเจ้าหนี้อดได้ใช้ผลประโยชน์ จากทรัพย์สินของตัวเจ้าหนี้เอง หลังจากบอกยกเลิกสัญญาแล้วเช่น

*** ค่าติดตามทวงถามในการทวงทรัพย์สินของเจ้าหนี้คืน หลังจากที่บอกยกเลิกสัญญาแล้ว แต่ลูกหนี้ไม่ยอมคืนทรัพย์สินให้
*** ค่าจ้างนักสืบ ในการสืบหาทรัพย์สิน ที่ลูกหนี้ไม่ยอมคืนทรัพย์สินให้กับเจ้าหนี้ หลังจากที่บอกยกเลิกสัญญาแล้ว
*** ลูกหนี้ได้หลบหนีไปพร้อมกับทรัพย์สินนั้นๆ(ไม่ยอมคืนของให้) ทำให้เจ้าหนี้ไม่มีโอกาสที่จะได้ใช้ทรัพย์สินของตนเอง เพราะยึดทรัพย์คืนไม่ได้ (เรียกได้ว่า อดได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น...เอาไว้ใช้เอง , ให้คนอื่นเอาไปใช้แล้วเก็บค่าเช่า , หรือเอาทรัพย์นั้นไปขาย) ภาษากฏหมายเรียกว่า “ค่าขาดราคา” , “ค่าขาดผลประโยชน์”
เหล่านี้ทั้งหมด มีอายุความ 10 ปี
กฏหมายในข้อนี้ พูดถึงเฉพาะ ค่าทวงหนี้ , ค่าจ้างนักสืบ(เพื่อติดตามของ) , ค่าเสียโอกาสในการใช้ทรัพย์ จากการที่ลูกหนี้ไม่ยอมคืนของ เท่านั้น



เกร็ดความรู้เพิ่มเติม

- หากลูกหนี้ไม่ยอมคืนของ เจ้าหนี้มีสิทธิ์ที่จะติดตามทวงเอาของคืนในฐานะเจ้าของทรัพย์กรรมสิทธิ์ได้ตลอด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่มีอายุความ
- ทรัพย์สินที่เช่าซื้อสูญหาย ลูกหนี้ต้องชำระค่าเช่าซื้อทั้งสิ้นจนครบ เพราะถือว่าเป็นการฟ้องขอให้ชำระราคาทรัพย์ที่เช่าซื้อจนครบตามสัญญา กรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นการเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ ใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
- ถ้าลูกหนี้นำทรัพย์สินไปจำหน่ายจ่ายโอน และไม่ยอมชำระเงิน ถือว่าผิดสัญญาเช่าซื้อ เจ้าของมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญา และลูกหนี้อาจมีความผิดอาญาฐานยักยอกทรัพย์ด้วย(เป็นคดีอาญา) เนื่องจากกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น ยังเป็นของเจ้าหนี้อยู่


ดังนั้น...ถ้าจะอ้างตามข้อกฏหมายที่ถูกต้องแล้ว ขอให้อ้างอิงจากคำพิพากษาของศาลฎีกา ตามที่ผมอธิบายไว้ด้านบนจึงจะชัดเจนและถูกต้องกว่านะครับ

จึงขอสรุปข้อมูลที่เกี่ยวกับ “อายุความของสัญญาเช่าซื้อ” ว่ามีอายุความต่างๆ ดังต่อไปนี้
- 6 เดือน
- 2 ปี
- 10 ปี
แล้วแต่มูลเหตุ และประเภทของหนี้ที่ถูกตั้งเรื่องฟ้อง ตามรายละเอียดที่ผมได้อธิบายไว้แล้วในด้านบน


ดังนั้น...หากใครเป็นลูกหนี้ที่ได้ทำสัญญาเช่าซื้อเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเช่าซื้อสังหาริมทรัพย์ใดๆก็ตาม
ถ้ารู้ตัวเองว่าจ่ายไม่ไหวแล้ว ก็หยุดจ่ายซะเถอะครับ พร้อมกับบอกยกเลิกสัญญากับเจ้าหนี้ซะ...แล้วก็คืนทรัพย์นั้นๆให้กับเขาไป โดยต้องขอหลักฐานในการคืนทรัพย์ เก็บเอาไว้ด้วย(อย่าไปทำการ ขาย , ถ่ายเท , โยกย้าย , โอน , หลบหนี...ทรัพย์ของเจ้าหนี้ เป็นอันขาด)
เท่านี้...ประเด็นอายุความ ในการฟ้องร้องลูกหนี้ ก็จะเหลือเพียงแค่ 6 เดือน และ 2 ปี เท่านั้น

สามารถตัดประเด็นในเรื่อง อายุความ 10 ปี

พร้อมกับคดีอาญา ออกไปได้เลยครับ...ฟันธง!



.
อนณสุข ปรมาลาภา

ความไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ
ไฟล์ที่แนบมาด้วย:

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

ผู้ดูแล: Badmankonsiam
เวลาที่ใช้ในการสร้างหน้าเว็บ: 0.833 วินาที
ขับเคลื่อนโดย ระบบฟอรัม Kunena