โดนฟ้องส่วนต่างรถยนต์ อายุความหมดแล้ว แต่ศาลพิจารณาให้รับผิดครับ

7 ปี 4 เดือน ที่ผ่านมา #91329 โดย pakhin66
ผมเคยออกรถยนต์ให้พี่ชายใช้ แล้วพี่ชายผ่อนไม่ไหว หยุดส่งเดือน20 พ.ค.2548 และส่งรถคืนไป บ.เอารถไปขายทอดตลาดในวันที่่ 10 กรกฎาคม 2549 ต่อมาบริษัทเจเอ็มที ได้ซื้อหนี้ต่อมาจากบ.ไฟแนนซ์และได้นำมาฟ้องผมในวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งรวมระยะเวลาแล้ว สิบปีกว่าๆ ศาลนัดวันที่ 3 ตุลาคม 2559 ผมไปขึ้นศาลและเขียนคำให้การ ว่าหมดอายุความแล้ว ให้ศาลโปรดยกฟ้องให้
...ที่หน้าบัลลังก์ ศาลท่านถามทนายโจทก์ ว่าหมดอายุความจริงไหม ทนายโจทก์ตอบหมดแล้วค่ะ ศาลท่านบอกถ้าอย่างนัั้นให้ถอนฟ้องไปไหม จะได้ไม่เสียค่าธรรมเนียมศาล ทนายโจทก์บอกไม่ได้ ต้องเอาไปเคลมภาษี ให้ท่านตัดสินไป ท่านหันมาบอกผมว่า ให้เวลาศาลพิมพ์คำพิพากษาหน่อยนะ แล้วค่อยมาคัดคำพิพากษาอีก 15 วัน ต่อมาพอไปคัดคำพิพากษา กลับกลายเป็นศาลตัดสินให้ชำระแก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 40,000 บาท
ในคำพิพากษาศาลระบุว่ายังไม่หมดอายุความ ศาลระบุมาแบบนี้ครับ " ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำให้การของจำเลยที่1 ว่าขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า จำเลยให้การสิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยที่1 คือตั้งแต่20พ.ค.48 โจทก์นำคดีมาฟ้อง28 ก.ค. 59 จริงเกิน10ปี คดีโจทก์จีงขาดอายุความ แต่ข้อเท็จจริงปรากฎตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ ว่าโจทก์ฟ้องคดีเรียกค่าขาดราคา ตามสัญญาเช่าซื้อซึ่งเป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่ง สิทธิเรียกร้องตามฟ้องโจทก์ จึงอาจบังคับได้ตั้งแต่วันที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน มิใช่วันที่จำเลยให้การสู้คดี คดีโจทก์จึงไม่หมดอายุความ" โจทก์จึงมีสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหายได้ครับ

จึงอยากสอบถามผู้รู้ด้านกฎหมาย 2 คำถามนะครับ
1. ทำไมศาลท่านจึงตัดสิน ทั้งที่เขียนคำให้การไปแล้วว่าหมดอายุความและประสงค์จะสู้เรื่องอายุความ แต่ผมไม่มีทนายไป แต่มีคำให้การให้ไปนะครับ

2. ผมงงกับคำว่าบอกเลิกสัญญา เป็นไปได้เหรอครับ ว่าขายทอดตลาดไปแล้วจะยังไม่บอกเลิกสัญญา และเรื่องมันนานมาก บวกกับไม่ได้ใช้รถเอง เลยไม่มีเอกสารตอนที่ไฟแนนซ์บอกเลิกสัญญานะครับ จะบอกว่าตามคำฟ้อง เอกสารโจทย์ส่งให้บอกเลิกสัญญา มกราคม 59 มันใช้ได้เหรอครับ

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

7 ปี 4 เดือน ที่ผ่านมา - 6 ปี 8 เดือน ที่ผ่านมา #91331 โดย jackTs
.
การเขียนคำให้การต่อสู้คดีว่าด้วยเรื่องอายุความ จำเป็นต้องอ้างมาตราของกฎหมายด้วยนะครับ...ว่าตกในมาตราใดบ้างของคดีแพ่ง? (ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด ตั้งหลายมาตรา)

ไม่ใช่การเขียนลอยๆ โดยใช้ภาษาชาวบ้านว่าคดีขาดอายุความไปแล้ว

ความรู้เบื้องต้น เกี่ยวกับหน้าที่ของศาล
debtclub.consumerthai.org/index.php?option=com_kunena&view=topic&catid=7&id=9240&Itemid=64




อีกทั้งจำเลยยังต้องแนบเอกสาร"บัญชีพยาน"
และเอกสาร"คำให้การพยาน" ในวันที่ไปขึ้นสืบพยาน(คำเบิกความพยาน)ต่อหน้าศาลอีกด้วยนะครับ

มิฉะนั้น ศาลท่านจะถือว่าจำเลยเขียนคำให้การสู้คดีมาโดยไม่สมบูรณ์ จึงอาจพิจารณาได้ว่าจำเลยไม่ยอมปฏิบัติให้ถูกต้องตามขั้นตอนของการสู้คดี ตามที่กฎหมายได้กำหนดเอาไว้ โจทก์จึงมีสิทธิ์เรียกร้องตามคำฟ้องได้ทุกประการ...ถึงแม้คดีจะขาดอายุความไปแล้วก็ตาม

ขอทราบวิธีการเขียนคำร้องเมื่อไปศาลเองครับ (อยู่ในด้านล่างๆของกระทู้)
debtclub.consumerthai.org/index.php?option=com_kunena&view=topic&catid=5&id=44220&Itemid=64#83599

.
อนณสุข ปรมาลาภา

ความไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

7 ปี 4 เดือน ที่ผ่านมา #91332 โดย Pheonix
/ + คืนรถให้ไฟแนนซ์แล้ว ต้องรับผิดอีกหรือไม่..มาดูกัน..+ ที่มา aod-lawyer.com/index.php?topic=4012.0;wap2 ทนายคลายทุกข์: ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๓ ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง มาตรา ๓๙๑ เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่ ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่ต่เวลาที่ได้รับไว้ ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้ และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นๆ หรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทน ก็ให้ใช้ตามนั้น การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่ มาตรา ๓๘๓ ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน เมื่อได้ใช้เงินตามเบี้ยปรับแล้ว สิทธิเรียกร้องขอลดก็เป็นอันขาดไป นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในมาตรา ๓๗๙ และ ๓๘๒ ท่านให้ใช้วิธีเดียวกันนี้บังคับ ในเมื่อบุคคลสัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนกระทำหรืองดเว้นกระทำการอันใดอันหนึ่งอันใดนั้นด้วย การนำรถยนต์ไปคืนไฟแนนซ์ คือการเลิกสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งกฎหมายเปิดโอกาสให้ผู้เช่าซื้อทำได้ตามมาตรา ๕๗๓ ส่งผลให้การคืนรถในกรณีนี้ เป็นการบอกเลิกสัญญา ดังนั้น สัญญาเช่าซื้อจึงระงับ เมื่อสัญญาระงับ ผู้ให้เช่าซื้อ(ไฟแนนซ์) ไม่อาจเรียกดอกเบี้ยตามสัญญาเช่าซื้อได้ และไม่อาจเรียกค่างวดที่เหลือได้อีก เมื่อสัญญาเช่าซื้อระงับไปแล้ว การนำรถออกไปขายทอดตลาดได้เงินไม่พอหรือไม่คุ้มค่ารถ จึงเป็นเรื่องที่ผู้ให้เช่าซื้อได้กระทำไปเอง โดยไม่อาจอ้างว่าขายทอดตลาดได้เงินไม่พอตามาสัญญาเช่าซื้อแต่อย่างใด เนื่องจากสัญญาได้เลิกกันแล้ว และระงับไปแล้วนั่นเอง แต่การบอกเลิกสัญญาของผู้เช่าซื้ออาจส่งผลต่อความเสียหายให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อได้ ดังนั้น ผู้ให้เช่าซื้อจึงอาจใช้สิทธิเรียกค่าเสียหายได้ตามมาตรา ๓๙๑ วรรคท้าย และการเรียกค่าเสียหายนี้ หากเป็นกรณีเรียกเบี้ยปรับอันเนื่องมาจากการเลิกสัญญา หากเบี้ยปรับที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อว่า หากคืนรถก่อนกำหนดจะต้องเสียค่าปรับเท่านั้นเท่านี้ก็ตาม หากเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงได้ตามมาตรา ๓๘๓ กรณีนี้ผู้ให้เช่าซื้อแม้ขายทอดตลาดได้ไม่คุ้มทุน หรือยังขาดอยู่เท่าใดก็ตาม ก็ไม่เรียกให้ผู้เช่าซื้อชำระในส่วนที่ยังขาดอยู่พร้อมดอกเบี้ยนั้นได้ เนื่องจากสัญญาระงับไปแล้ว คงเรียกได้แค่เบี้ยปรับ หรือค่าเสียหาย (หากพิสูจน์ได้) เท่านั้น ป.ล. หลายคนตกเป็นเหยื่อ หรือ เข้าใจผิดมากันตลอดว่า คืนรถแล้วก็ยังต้องรับผิดอีก อันนี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก และเป็นช่องทางให้ไฟแนนซ์ลักไก่เรียกเงินจากเรา โดยไม่มีสิทธิ ใครจะเชื่อผมหรือไม่ก็แล้วแต่ความคิดของพวกคุณ ผมขอย้ำตรงนี้ว่า คืนรถแล้ว สัญญาระงับตามมาตรา ๕๗๓ และไฟแนนซ์ก็หมดสิทธิเรียกส่วนต่างจากเราด้วย นั่นเอง นำร่อง [0] ดัชนีข้อความ ผมเห็นว่า เป็นประโยชน์กับลูกหนี้ จึงคัดลอกมาลง./

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

7 ปี 4 เดือน ที่ผ่านมา #91333 โดย Pheonix
๑) คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๘๖๑/๒๕๔๕ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๔ บัญญัติไว้เพียงว่า เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเพราะผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบเงินที่ผู้ให้เช่าซื้อรับไว้ และกลับเข้าครอบครองทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อเท่านั้น การที่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อ กำหนดให้จำเลยที่ ๑ ผู้เช่าซื้อต้องชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดในขณะที่โจทก์มีสิทธิกลับเข้าครอบครองรถยนต์ ย่อมเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องซ้ำซ้อนกัน ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนสัญญาเลิกกันได้ คงเรียกได้แต่ค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ ๑ ครอบครองทรัพย์อยู่ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๙๑ วรรคสาม และค่าเสียหายอื่นที่จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดนอกเหนือจากค่าเสียหายอันเกิดจากการใช้ทรัพย์โดยชอบ
ฎีกาสำนักงานศาลยุติธรรม เล่ม ๑๑ หน้า ๑๔๘

๒) คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๒/๒๕๔๖ ในกรณีที่จำเลยที่ ๑ ผิดนัดผิดสัญญา ประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๔ มิได้บัญญัติให้สิทธิแก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อประการอื่นนอกจากการกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินและริบเงินที่ส่งมาแล้ว หากโจทก์เสียหายก็ชอบที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาเช่าซื้อ ที่กำหนดให้โจทก์ได้รับชำระค่าเช่าซื้อค้างชำระ ก่อนเลิกสัญญาครบถ้วน จนถึงวันที่โจทก์ได้รับรถยนต์คืน หรือวันบอกเลิกสัญญาเช่าซื้ออันเป็นข้อสัญญาที่กำหนดความรับผิดในความเสียหาย เนื่องจากการไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งถ้ากำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลอาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๓ วรรคหนึ่ง แต่ไม่มีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตราใดที่ให้อำนาจศาลที่จะงดเบี้ยปรับเสียทั้งหมด
ฎีกาสำนักงานศาลยุติธรรม เล่ม ๒ หน้า ๙

๓) คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๑๘๔/๒๕๔๗ เมื่อมีการเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว เจ้าของทรัพย์สินที่ให้ เช่าซื้อมีสิทธิริบเงินที่ผู้เช่าซื้อส่งใช้มาแล้ว และกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อเท่านั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๔ วรรคหนึ่ง หาได้มีบทบัญญัติให้เรียกเอาค่าเช่าซื้อที่ยังค้างชำระได้อีก ดังนั้น โจทก์จะเรียกให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเช่าซื้อที่ยังค้างอยู่อีกไม่ได้ เพราะสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว คู่สัญญาไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอีกต่อไป โจทก์คงเรียกได้แต่เฉพาะค่าเสียหายอันเนื่องจากจำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น การที่สัญญาเช่าซื้อกำหนดให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระได้นั้น จึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งมีผลใช้บังคับระหว่างคู่สัญญาได้
ฎีกาสำนักงานศาลยุติธรรม เล่ม ๑๒ หน้า ๒๘

๔) คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๙๖/๒๕๔๘ จำเลยที่ ๑ เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยเหตุจำเลยที่ ๑ ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน คู่สัญญาไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ โจทก์คงเรียกได้แต่เฉพาะค่าเสียหายอันเนื่องจากการเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๙๑ วรรคสาม วรรคสี่ และในกรณีนี้มาตรา ๕๗๔ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้บรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อนให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สิน และเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครอบครองทรัพย์ที่เช่าซื้อเท่านั้น
ฎีกาสำนักงานศาลยุติธรรม เล่มที่ ๕ หน้า ๔๐

๕) คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๓๖๓/๒๕๔๕ โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ตกลงกันไว้ตามสัญญาเช่าซื้อว่า ถ้าจำเลยที่ ๑ ผิดนัดไม่ชำระเงินใด ๆ ตามสัญญา จำเลยที่ ๑ ยอมให้ผู้แทนหรือลูกจ้างของโจทก์เข้าไปยังสถานที่ของจำเลยที่ ๑ เพื่อยึดรถยนต์ได้ไม่ว่าโจทก์จะได้บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ ๑ แล้วหรือไม่ก็ตาม การที่โจทก์ติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ ๑ จึงเป็นกรณีที่โจทก์สามารถกระทำได้โดยที่ยังมิได้มีการบอกเลิกสัญญากัน และต่อมาภายหลังโจทก์จึงได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๑ เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดราคารถยนต์แก่โจทก์
เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๓๙๑ วรรคแรก โจทก์จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าขาดราคารถยนต์เท่ากับค่าเช่าซื้อที่ยังขาดได้ เพราะจะมีผลเท่ากับบังคับให้จำเลยที่ ๑ ปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อที่เลิกกันไปแล้ว หากโจทก์ยังได้รับความเสียหายในส่วนราคารถยนต์ที่ขาด โจทก์สามารถเรียกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๙๑ วรรคท้าย แต่ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกได้นี้คือค่าขาดราคาไปจากราคารถยนต์ที่แท้จริง ไม่ใช่ค่าขาดราคาไปจากราคาตามสัญญาเช่าซื้อ
ฎีกาสำนักงานศาลยุติธรรม เล่ม ๙ หน้า ๑๓๗

- - - - - - - - - - - - -





ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่าซื้อ เลิกสัญญา เรียกค่าเสียหาย บัญญัติไว้ดังนี้

มาตรา ๕๗๔ ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สิน และเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย
อนึ่งในกรณีกระทำผิดสัญญาเพราะผิดนัดไม่ใช้เงินซึ่งเป็นคราวที่สุดนั้นท่านว่าเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะริบบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน และกลับเข้าครองทรัพย์สินได้ต่อเมื่อระยะเวลาใช้เงินได้พ้นกำหนดไปอีกงวดหนึ่ง

มาตรา ๓๙๑ เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่
ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้
ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้ และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นๆ หรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทนก็ให้ใช้ตามนั้น
การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้น หากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่

มาตรา ๒๒๒ การเรียกเอาค่าเสียหายนั้น ได้แก่เรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้นั้น./

- - - - - - - - - - - -

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

7 ปี 4 เดือน ที่ผ่านมา #91334 โดย Pheonix
เพื่อความรัดกุม ควรจะต่อสู้เรื่องสัญญาไม่เป็นธรรม ข้อ ๑. ตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. ๒๕๔๐ ความว่า มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้ “ข้อสัญญา” หมายความว่า ข้อตกลง ความตกลง และความยินยอม รวมทั้งประกาศ และคำแจ้งความเพื่อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดด้วย “ผู้บริโภค” หมายความว่า ผู้เข้าทำสัญญาในฐานะผู้ซื้อ ผู้เช่า ผู้เช่าซื้อ ผู้กู้ ผู้เอาประกันภัย หรือ ผู้เข้าทำสัญญาอื่นใดเพื่อให้ได้มา ซึ่งทรัพย์สิน บริการ หรือประโยชน์อื่นใดโดยมีค่าตอบแทน ทั้งนี้ การเข้าทำสัญญานั้นต้องเป็นไปโดยมิใช่เพื่อการค้า ทรัพย์สิน บริการ หรือประโยชน์อื่นใดนั้น และให้หมายความรวมถึงผู้เข้าทำสัญญาในฐานะผู้ค้ำประกันของบุคคลดังกล่าวซึ่งมิได้กระทำเพื่อการค้าด้วย “ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ” หมายความว่า ผู้เข้าทำสัญญาในฐานะผู้ขาย ผู้ให้เช่า ผู้ให้เช่าซื้อ ผู้ให้กู้ ผู้รับประกันภัย หรือผู้เข้าทำสัญญาอื่นใดเพื่อจัดให้ซึ่งทรัพย์สิน บริการ หรือประโยชน์อื่นใด ทั้งนี้ การเข้าทำสัญญานั้นต้องเป็นไปเพื่อการค้า ทรัพย์สิน บริการ หรือประโยชน์อื่นใดนั้นเป็นทางค้าปกติของตน “สัญญาสำเร็จรูป” หมายความว่า สัญญาที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษรโดยมีการกำหนดข้อสัญญาที่เป็นสาระสำคัญไว้ล่วงหน้า ไม่ว่าจะทำในรูปแบบใด ซึ่งคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนำมาใช้ในการประกอบกิจการของตน มาตรา ๔ ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝาก ที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝาก ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้ตีความสัญญาสำเร็จรูปไปในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายซึ่งมิได้เป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปนั้น ข้อตกลงที่มีลักษณะ หรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่า ทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น (๒) ข้อตกลงให้ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด ในการพิจารณาข้อตกลงที่ทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งตามวรรคสาม เป็นการได้เปรียบเกินสมควรหรือไม่ ให้นำมาตรา ๑๐ มาใช้โดยอนุโลม มาตรา ๑๐ ในการวินิจฉัยว่าข้อสัญญาจะมีผลบังคับเพียงใด จึงจะเป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี ให้พิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ทั้งปวง รวมทั้ง (๑) ความสุจริต อำนาจต่อรอง ฐานะทางเศรษฐกิจ ความรู้ความเข้าใข ความสันทัดจัดเจน ความคาดหมาย แนวทางที่เคยปฏิบัติ ทางเลือกอย่างอื่น และทางได้เสียทุกอย่างของคู่สัญญาตามสภาพที่เป็นจริง (๒) ปกติประเพณีของสัญญาชนิดนั้น (๓) เวลาและสถานที่ในการทำสัญญาหรือในการปฏิบัติตามสัญญา (๔) การรับภาระที่หนักกว่ามากของคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง หมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากหลักกฎหมายเกี่ยวกับนิติกรรมหรือสัญญาที่ใช้บังคับอยู่มีพื้นฐานมาจากเสรีภาพของบุคคล ตามหลักของความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนา รัฐจะไม่เข้าไปแทรกแซงแม้ว่าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เว้นแต่จะเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่ในปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้ซี่งมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจเหนือกว่าถือโอกาสอาศัยหลักดังกล่าวเอาเปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งอำนาจต่อรองทางเศรฐกิจด้อยกว่าอย่างมาก ซี่งทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและไม่สงบสุขในสังคม สมควรที่รัฐจะกำหนดกรอบของการใช้หลักความศักดิ์สิทธิของการแสดงเจตนาและเสรีภาพของบุคคล เพื่อแก้ไขความไม่เป็นธรรมและความไม่สงบสุขในสังคมดังกล่าว โดยกำหนดแนวทางให้แก่ศาล เพื่อใช้ในการพิจารณาว่าข้อสัญญาหรือข้อตกลงใดที่ไม่เป็นธรรม และให้อำนาจแก่ศาลที่จะสั่งให้ข้อสัญญาหรือข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมนั้นมีผลใช้บังคับเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น ศุภสรณ์ / อภิสิทธิ์ ผู้จัดทำ ๒๑/๐๓/๒๕๔๖

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

7 ปี 4 เดือน ที่ผ่านมา #91393 โดย Chokdee
ขอบพระคุณอย่างสูงคะสำหรับข้อมูล และจะเป็นประโยชน์เพิ่มอีกมากคะ ถ้าท่าน Phonix จะช่วยกรุณาสรุปเป็นภาษาชาวบ้านง่ายๆ และสั้นๆนะคะ

กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิกใหม่ เพื่อเข้าร่วมวงสนทนา

ผู้ดูแล: MommyangelBadmankonsiam
เวลาที่ใช้ในการสร้างหน้าเว็บ: 0.858 วินาที
ขับเคลื่อนโดย ระบบฟอรัม Kunena