วันที่ 3 มิ.ย. นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า โครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งเป็นโครงการแก้หนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่เข้าร่วมโครงการเพื่อรองรับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ผลจากมาตรการทำให้ลูกหนี้ที่ชำระค่างวดเข้ามา โครงการได้ช่วยเหลือโดยการลดดอกเบี้ยให้ 2% เพื่อลดภาระในช่วงนี้ ทำให้ไม่มีลูกหนี้ต้องออกจากโครงการแม้สักรายเดียว ด้วยเหตุว่าผ่อนชำระค่างวดไม่ไหว
 
 
สำหรับมาตรการช่วยเหลือประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือ
 
1. ผู้ที่จ่ายหนี้ไม่ไหวแล้ว ผ่อนปรนให้สามารถเลื่อนงวดชำระ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 6 เดือนในช่วง เม.ย. – ก.ย. 2563 โดยผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนได้รับสิทธินี้โดยอัตโนมัติทุกคน
 
2. สำหรับผู้ที่ยังจ่ายพอไหว ปรับลดดอกเบี้ยลง 2% จากที่เคยจ่าย เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่าย และเป็นแรงจูงใจให้ผู้เข้าร่วมโครงการที่จ่ายค่างวดเข้ามาต่อเนื่อง โดยดอกเบี้ยในช่วงนี้เหลือเพียง 2-3%
 
โครงการผ่อนปรนเงื่อนไขให้สามารถจ่ายชำระเข้ามาเท่าที่ทำได้ เช่น ครึ่งหนึ่งของค่างวดที่เคยจ่าย ในกรณีนี้ก็ยังได้รับสิทธิพิเศษเรื่องการลดดอกเบี้ย การออกแบบมาตรการช่วยเหลือจะยึดลูกหนี้เป็นที่ตั้งคือ คำนึงถึงปัญหา ความเดือดร้อน และข้อจำกัดของลูกหนี้ ทำให้โครงการสามารถตอบโจทย์ลูกหนี้ได้ทุกราย ทั้งรายที่ผ่อนไม่ไหวในช่วงนี้และรายที่สามารถจ่ายเข้ามาก็จะเสียดอกเบี้ยน้อยลง ในขณะเดียวกันก็ช่วยตอบโจทย์เจ้าหนี้ด้วยเช่นกัน เพราะไม่มีลูกหนี้ที่ต้องกลายเป็นหนี้เสีย และลูกหนี้ส่วนใหญ่ที่มีความสามารถยังผ่อนชำระเข้ามาต่อเนื่อง
 
นางธัญญนิตย์ กล่าวต่อว่า ประชาชนที่มีหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล ที่สมัครเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ในช่วง เม.ย-ก.ย. 2563 จะได้รับสิทธิลดดอกเบี้ย 2% จากโครงการเช่นเดียวกัน โดยอัตราดอกเบี้ยที่ 2-3% ถือว่าผ่อนปรนมากเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยบัตรปกติที่ 18%
 
ทั้งนี้ ข้อมูลถึงเดือน พ.ค. โครงการคลินิกแก้หนี้ สามารถช่วยประชาชนแก้หนี้บัตรไปแล้วกว่า 21,000 ใบ ครอบคลุมลูกหนี้ 4,204 ราย ซึ่งมีหนี้บัตรเฉลี่ยรายละ 5 ใบ มูลหนี้เฉลี่ยต่อราย 340,000 บาท และขณะนี้มีลูกหนี้ที่รอลงนามในสัญญาอีกกว่า 800 ราย และอีก 1,500 ราย อยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจเช็กข้อมูลกับสถาบันการเงิน คาดว่าครึ่งแรกของปี 2563 ตัวเลขผู้เข้าร่วมโครงการจะเกิน 5,000 ราย
 
สำหรับเงื่อนไขจาก www.คลินิกแก้หนี้.com กำหนดคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ เป็นบุคคลธรรมดา ที่มีรายได้ อายุไม่เกิน 65 ปี, เป็นหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล ที่ไม่มีหลักประกันของสถาบันที่เข้าร่วมโครงการ, เป็น NPL ก่อน 1 ม.ค. 63 และมีหนี้รวมไม่เกิน 2 ล้านบาท